วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Aston Martin Rapide พร้อมโลดแล่นบนท้องถนน

Aston Martin Rapide พร้อมโลดแล่นบนท้องถนน แตกแนวคิดก่อนใครเพื่อน แต่กว่าจะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าได้ เรียกว่าแฟนๆ ของแอสตัน มาร์ตินต้องร้องเพลงรอกันนานเอาเรื่อง เพราะนับจากการที่ค่าย AM เผยแนวคิดการผลิตสปอร์ต 4 ประตูระดับหรูออกมาเมื่อปี 2006 กับต้นแบบที่งานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ รถยนต์คันจริงเพิ่งจะถูกทำคลอดออกมาจากไลน์ผลิตเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เองดูผ่านๆ แล้วตัวรถอาจไม่มีความสำคัญอะไร แต่ทว่านักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นผลผลิตหลักที่จะช่วยผลักดันให้แอสตัน มาร์ตินสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง รวมถึงการนำพาบริษัทให้พบกับตัวเลขสีดำบนบัญชีรายรับรายจ่ายได้สักที

เรียกว่ามีสำคัญถึงขนาดที่เดวิด ริชาร์ดส์ และกลุ่มร่วมทุนของเขาที่ร่วมกันลงขันซื้อหุ้นเสียงส่วนใหญ่ของแอสตัน มาร์ตินมาจากฟอร์ดเมื่อเดือนมีนาคม 2007 ด้วยวงเงิน 475 ล้านปอนด์ หรือ 24,000 ล้านบาท จัดการเปิดไฟเขียวให้โครงการเดินหน้าผลิตทันที และการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจใหม่นี้ถูกมองว่าจะช่วยชุบชีวิตให้กับแอสตัน มาร์ติน

เพราะหลังจากที่ซื้อหุ้นเสียงส่วนใหญ่มาแล้ว พวกเขาจัดการปรับปรุงระบบใหม่ของแอสตัน มาร์ติน โดยเฉพาะการเซ็นสัญญาร่วมมือกับโรงงาน Magna Steyr แห่งออสเตรียเข้ามาสนับสนุนการผลิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2008 โดยโรงงานแห่งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระในการผลิตรถยนต์ของแอสตันมาร์ตินจากโรงงานเกย์ดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 2,000 คันต่อปี ทั้งหมดเป็นการผลิตความสปอร์ต 4 ประตูระดับหรูมาดสปอร์ตรุ่นนี้

นอกจากนั้น แอสตัน มาร์ตินยุคใหม่ยังขยายตัวในการเจาะตลาดทั่วโลกด้วยการเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ในยุโรป เช่นเดียวกับการบินข้ามน้ำไปเปิดโชว์รูมแห่งแรกในประวัติศาสตร์ 97 ปีของบริษัทที่เมืองปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยในปัจจุบันแอสตัน มาร์ตินมีดีลเลอร์ทั่วโลกจำนวน 125 แห่งใน 34 ประเทศทั่วโลก เพื่อรองรับกับการขยายตัวในอนาคต รวมถึงการปัดฝุ่นนำชื่อแบรนด์ลากอนดา (Lagonda) ที่โด่งดังในอดีตกลับมาขายอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายรุกตลาดในปี 2012

สำหรับตัวของราปิดเอง ถูกเปิดตัวครั้งแรกในฐานะต้นแบบเมื่อปี 2006 ในยุคที่ฟอร์ดยังถือครองสิทธิ์บริษัทและอยู่ในร่มเงาของกลุ่ม PAG หรือ Premier Automotive Group เป็นการรวมตัวกันของแบรนด์รถยนต์หรูอย่างยุโรปที่อยู่ในเครือฟอร์ด เช่น วอลโว่, แลนด์ โรเวอร์ และจากัวร์

การเปิดตัวของราปิดช่วยทำให้เกิดกระแสความต้องการใหม่ของรถยนต์ระดับหรูที่แตกต่างจากบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 หรือเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส กับความหรูที่เพียบพร้อมด้วยความสปอร์ตและสมรรถนะ ปอร์เช่จัดการพัฒนาโปรเจ็กต์พานาเมอราตามออกมาทันที และชิงตัดหน้าขายไปก่อนแอสตัน มาร์ติน

ขณะที่ลัมบอร์กินีก็เปิดตัวต้นแบบรุ่นเอสทอร์ก ซูเปอร์ซีดาน 4 ประตูตามออกมาเมื่อปี 2008 และทำท่าว่าจะผลิตขายในอนาคต แต่จากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2009 ทำให้โครงการนี้ถูกพับเอาไว้ก่อน แต่จะชั่วคราวหรือตลอดไป ยังไม่มีการเปิดเผย

ข้อดีของแอสตัน มาร์ตินที่ส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการผลิตคือ การที่รถยนต์ทุกรุ่นที่อยู่บนโชว์รูมถูกพัฒนาบนพื้นตัวถังเดียวกันที่เรียกว่า VH หรือ Vertical Horizontal ไม่ว่าจะเป็นสปอร์ตรุ่นเล็กในตระกูล Vantage ที่จะไปบุกตลาดสหรัฐอเมริการวมถึงแคนาดาและละตินอเมริกาเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้ด้วยรุ่น Vantage V12 หรือรุ่นใหญ่อย่างตระกูล DB อย่าง DB9 และ DBS รวมถึงซีดานมาดสปอร์ตอย่างราปิด

อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดตัวต้นแบบในปี 2006 แต่กว่าโปรเจ็กต์นี้จะกลายเป็นของจริงแบบสัมผัสได้ก็ล่วงเข้าสู่ปลายปี 2009 เมื่อแอสตัน มาร์ตินนำคันจริงสำหรับขายในตลาดออกจัดแสดงที่งานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ เดือนกันยายน 2009 และลูกค้ายังต้องรออีกร่วมครึ่งปีกว่าที่มีการส่งมอบรถยนต์ได้...แต่จะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าหรือไม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

ในเรื่องรายละเอียดของตัวรถถูกพัฒนาบนรูปลักษณ์ในสไตล์เดียวกับรถสปอร์ตของแอสตัน มาร์ติน มีความเด่นด้วยกระจังหน้าขนาดใหญ่พร้อมกับลายซี่กระจังในแบบแนวนอน แถมประตู 4 บานเปิดขึ้นในลักษณะเฉียงไปทางด้านหน้าเล็กน้อย หรือที่เรียกกันว่า Swan Wing Door และโครงสร้างตัวถังผลิตจากอะลูมิเนียมเพื่อประโยชน์ในเรื่องของการลดน้ำหนักตัวถัง

ตัวรถแบบฟาสต์แบ็คมาในแบบ 4 ที่นั่งพร้อมกับพื้นที่เก็บสัมภาระที่มีความจุในระดับ 301 ลิตร แต่เมื่อต้องการพื้นที่ในการบรรทุกก็สามารถพับเบาะหลังลงได้ โดยใช้ปุ่มกด เบาะหลังจะพับลงด้วยระบบไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ทำให้พื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระเพิ่มขึ้นเป็น 701 ลิตร ขณะที่ฝากระโปรงหลังของตัวรถในแบบฟาสต์แบ็กยังเอื้อประโยชน์ในเรื่องของการนำสัมภาระเข้าและออกจากห้องโดยสาร เพราะฝากระโปรงหลังรวมชุดเป็นชิ้นเดียวกับกระจกบังลมหลัง ทำให้เปิดได้กว้างขึ้น

เช่นเดียวกับพื้นตัวถัง ในส่วนของเครื่องยนต์ ทางราปิดก็ได้รับเทคโนโลยีมาจากรถสปอร์ต โดยยกเครื่องยนต์วี12 ของสปอร์ตใหย่ตระกูล DB มาใช้ เป็นเครื่องยนต์วี12 ประกอบด้วยมือ ที่มีความจุ 6000 ซีซี. มีกำลังสูงสุด 470 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 61.14 กก.-ม. ที่ 5,000 รอบ/นาที และส่งกำลังสู่ล้อหลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะพร้อมโหมด Touchtronic 2 ที่ผู้ขับสามารถเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ผ่านทางแป้น หรือ Paddle Shift ที่อยู่ตรงคอพวงมาลัย

ในอังกฤษ ทางแอสตัน มาร์ตินตั้งราคาเอาไว้ 139,950 ปอนด์ หรือ 6.8 ล้านบาท ใครที่สนใจอยากขับ สั่งจองกันได้เลย เพราะรถเริ่มส่งมอบกันแล้ว
ที่มา โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์