วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พลิกแฟ้มประวัติผู้นำหญิงของโลก มีเหตุที่มาที่ไปทำเพื่อวงศ์ตระกูล!!

สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทย ทุกฝ่ายกำลังจับตาดูฝีมือการบริหารงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยว่า จะเป็นหุ่นเชิดตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดเวลาในขณะนี้ ซึ่งคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นผิดหรือถูก มิใช่มีเฉพาะประชาชนคนไทยกลุ่มต่าง ๆ จะเฝ้ามองดู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประชาคมโลกต่างก็เพ่งมองดูอย่างไม่วางตาเช่นกัน
โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศหลายสำนักก็จะได้จับตาดูอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารงานชาติบ้านเมือง ที่อาจจะมีพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำกับการแสดงอยู่เบื้องหลังก็ได้

นิตยสารไทม์ชื่อดังของโลกได้มีบทความเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจัดให้เป็น 1 ใน 12 ผู้นำหญิงของโลกปัจจุบันนี้ และวิพากษ์วิจารณ์ในบทความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องบริหารงานประเทศชาติ เพื่อเอาชนะเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับที่คนยังเชื่อกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพี่ชาย อยู่เบื้องหลังในการบริหารงานของประเทศให้ได้ ทั้งเรื่องการดำเนินการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สำคัญคือเรื่องการสร้างความปรองดองของคนกลุ่มสีทางการเมือง ซึ่งบทความของสื่อต่างชาติดังกล่าวนี้ ก็คล้าย ๆ กับเสียงวิจารณ์และวิเคราะห์ของสื่อไทยที่กำลังเริ่มติดตามก้าวแรกของการทำงานรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เช่นกัน

สำหรับนิตยสารไทม์ที่จัดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น 1 ใน 12 ผู้นำหญิงของโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งผู้นำที่นิตยสารไทม์ได้เขียนถึง มิใช่เป็นผู้นำที่มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงเท่านั้น แต่เป็นผู้นำหญิงของบางประเทศที่เป็นตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้นำหญิงที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศอยู่ในเวลานี้ มีประเทศดังต่อไปนี้

1.“แองเจลา เมอร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

2. “จูเลีย กิลลาร์ด” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

3. “ชิค ฮาลินา วาเจล” นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ

4. “โจฮันนา ชิเกอร์ดาร์ดอดดีร์” นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์

5. “ลอรา ชินชิลลา” นายกรัฐมนตรีคอสตาริกา

6.”ดาร์ยา ฮาโลเนน” นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์

7. “ดาเลีย กริโบสเกียด” นายกรัฐมนตรีลิธัวเนีย

8. “กัมลา เปอร์ชาด บี สเซสซาร์” นายกรัฐมนตรีตรินิแดด แอน์ โตเบโก

ส่วนผู้นำหญิงที่มีตำแหน่งประธานาธิบดี มีอยู่ 3 คน คือ

1. “คริสตินา เฟอร์นันเดช เดอ เคิร์ชเนอร์” ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา

2. “ดิลมา รุสเชฟฟ์” ประธานาธิบดีบราซิล

3. “เอลเลน จอห์นสัน เชอร์ลิพ” ประธานาธิบดีโบลิเวีย

ผู้นำหญิงของโลกทั้ง 12 คนรวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นิตยสารต่างประเทศได้วิเคราะห์ถึงนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังถูกสื่อต่างชาติลงมติว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่สวยที่สุดในโลกด้วย ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจของประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเส้นทางทางการเมืองของผู้นำหญิงของโลกทั้ง 12 คนในปัจจุบันนี้ย่อมมีที่มาแตกต่างกันไปตามเหตุการณ์ของบ้านเมืองนั้น ๆ แต่จากการสืบค้นย้อนหลังไปดูผู้นำของโลกที่ผ่าน ๆ มาแล้ว ส่วนใหญ่มีที่มาและที่ไปเพราะสถานการณ์ส่งให้เข้ามาเป็นผู้นำหญิง บางคนเข้ามาเป็นเพราะอุบัติเหตุทางการเมือง บางคนเข้ามาเป็นเพราะมีเลือดเนื้อเชื้อไขของตระกูลนักการเมืองในประเทศนั้น ๆ

เปิดดูหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของโลกที่ได้บันทึกไว้ว่า นางสิริมาโว บันดารานัยเก อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศศรีลังกา เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก เหตุที่เธอก้าวเข้ามาเล่นการเมือง ก็เนื่องจากเป็นภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรีโซโลมอน บันดารานัยเก ที่ถูกลอบสังหาร เมื่อปี พ.ศ. 2502 ทำให้นางสิริมาโว บันดารานัยเก ประกาศเข้ามาสู่เส้นทางทางการเมือง และสืบทอดเป็นหัวหน้าพรรคแทนสามีของเธอ โดยได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2503 โดยนางสิริมาโว บันดารานัยเก นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย

ขอยกตัวอย่างอดีตผู้นำหญิงในแถบภูมิภาคเอเชีย 4 คนที่ถือว่าเป็นผู้นำหญิงที่ชาวโลกรู้จักกันดี เช่น นางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังของประเทศอินเดีย เธอแต่งงานกับคนในตระกูลคานธี ซึ่งไม่ได้มีเชื้อสายโดยตรงมาจาก “มหาตมะ คานธี” แค่เป็นเครือญาติกันเท่านั้น โดยเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย 2 สมัย และถูกองครักษ์ประจำตัวกราดยิงด้วยกระสุนถึง 30 นัดจนเสียชีวิตคาที่เมื่อวันที่ 31 ต.ค. พ.ศ.2527

อดีตผู้นำหญิงในเอเชียที่คนทั้งโลกรู้จักดีอีกคน ก็คือ “นางคอราชอน อาคีโน” ซึ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศฟิลิปปินส์ เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 ชีวิตของนางคอราชอน อาคีโน ต้องเข้ามาสู่เส้นทางทางการเมือง ก็เพราะ “เบนิโญ อาคีโน” ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส และโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองจากประธานาธิบดีมาร์กอส จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2523 หลังจากนั้น 3 ปี “เบนิโญ อาคีโน” ได้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศฟิลิปปินส์โดยลำพัง ขณะที่เขากำลังลงจากเครื่องบินที่สนามบินกรุงมะนิลาก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิตคาสนามบิน หลังจากเสร็จพิธีศพของ “เบนิโญ อาคีโน” แล้ว ประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้นางอาคีโนสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่นางอาคีโนก้าวเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองที่มาจากแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่ง

นายกรัฐมนตรีหญิงของภูมิภาคเอเชียอีกคนที่ชาวโลกรู้จักดีก็คือ “นางเบนาซีร์ บุตโต” ซึ่งขณะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531นั้น ได้รับการบันทึกว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของโลก คือมีอายุเพียง 35 ปี สาเหตุที่เธอเข้ามาสู่วงการการเมือง ก็เพราะเป็นบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งปากีสถาน “ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต” ที่โดนโค่นอำนาจลงจากคณะรัฐประหาร และถูกคณะรัฐประหารสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อปี พ.ศ.2522 เธอและมารดาถูกคณะรัฐประหารจับกุมตัวไปคุมขังนานถึง 7 ปี หลังถูกปล่อยตัวออกมาก็ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในที่สุดประชาชนก็เรียกร้องให้เธอกลับมารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน สืบทอดจากบิดาของเธอ

จากกระแสกดดันทั่วโลกทำให้ คณะรัฐประหารต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ และนางเบนาซีร์ บุตโต หัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถานที่ได้เสียงข้างมาก ก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ แต่ชีวิตการเมืองของนางเบนาซีร์ บุตโต มิได้ไปได้สวยด้วยความราบรื่น เกมการเมืองทำให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ.2533 อย่างไรก็ตามนางเบนาซีร์ ก็สามารถกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2536-2539 รัฐบาลชองเธอก็โดนโค่นล้มอีก จนต้องหนีลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองดูไบและลอนดอน

หลังจากที่การเมืองภายในปากีสถานจำต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นางเบนาซีร์ บุตโต ที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดนถึง 8 ปีก็เดินทางกลับประเทศเพื่อช่วยหาเสียงให้แก่พรรคประชาชนปากีสถาน เธออยู่ที่ปากีสถานได้ไม่นานก็โดนถล่มด้วยระเบิดจบชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550

ผู้นำหญิงของเอเชียที่โลกได้จดบันทึกไว้อีกผู้หนึ่งก็คือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2544 เหตุที่นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี กระโจนเข้าสู่วงการการเมือง ก็เพราะเธอเป็นบุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน วีรบุรุษของชาวอินโดนีเซียที่รวมพลังต่อสู้จนประเทศได้รับเอกราชในที่สุด และเธอถูกแรงผลักดันจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการให้เธอเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในฐานะบุตรสาวของวีรบุรุษแห่งชาติ และเธอก็กลายเป็นศูนย์รวมความหวังของชาวอิเหนาทั้งมวล แต่นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเพียงแค่ 1 สมัยเท่านั้น และการลงชิงชัยประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2547 เธอก็ต้องพ่ายแพ้แก่นายซูซิโล บัมบัง ยุทธโยโน ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2 สมัยจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยนั้น และยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง 1 ใน 2 ของประเทศในแถบเอเชียในปัจจุบันนี้ ซึ่งประเทศบังคลาเทศได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงบริหารประเทศเช่นกัน จากการพลิกแฟ้มประวัติอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงประเทศต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่ที่ต้องกระโจนเข้าสู่วงการเมืองก็เพราะมีสายเลือดของผู้เป็นพ่อที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็เป็นภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรี การเข้ามาสู่วงการเมืองเพียง 49 วันจนได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งคนไทยทุกคนรู้กันอย่างชัดแจ้งว่าเธอเป็นน้องสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีภัยทางการเมืองไปพำนักอยู่ที่ดูไบ ดังนั้นการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจเข้ามาสู่วังวนทางการเมืองนั้น ไม่สามารถคิดไปอย่างอื่นได้นอกจากทำเพื่อตระกูล “ชินวัตร” นั่นเอง

ชีวิตทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงมิใช่ราบเรียบนุ่มเท้าเดินอยู่บนพรมแน่นอน จะต้องผจญกับสารพัดเรื่องสารพัดปัญหาของชาติที่ถาโถมเข้ามาทั้งคนที่รักและคนที่ชังเป็นระลอก ๆ ที่เธอจะต้องตามแก้ปัญหาแทบทุกวัน ที่สำคัญที่สุดที่คนทั้งประเทศและคนทั่วโลกอยากรู้ว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ผู้นำหญิงของโลกปัจจุบันนี้ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่สวยที่สุดในโลกจะนั่งอยู่ในเก้าอี้ได้นานเท่าไหร่??.
ที่มา เดลินิวส์