วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พบพืช-สัตว์พันธุ์ใหม่ในประเทศไทย25ชนิด


พบพืช-สัตว์พันธุ์ใหม่ในประเทศไทย25ชนิด ทีมนักวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย ทั้งพืช และสัตว์รวม 25 ชนิด ไฮไลต์อยู่ที่ "หอยนักล่าเกลียวเชือก" เป็นหอยขนาดจิ๋ว วงศ์ใหม่ของโลก รูปร่างต่างจากหอยทั่วไป เปลือกสีขาวทรงกระบอก เรียวเวียนขวา สูงแค่ 5 มม. พบมากตามพื้นที่ชื้นแถบป่าภาคตะวันออก มักหากินหลังฝนตก ขณะที่ “แตนเบียนหนวดยาวสุพจน์” พบที่เชียงใหม่ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯคนปัจจุบัน เตรียมต่อยอดองค์ความรู้ทั้งทางการแพทย์ เกษตร และอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาฯ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จัดแสดงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ 25 ชนิด ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศ ไทย ตั้งแต่วันที่ 13-16 ธ.ค. โดย รศ.จริยา เล็กประยูร หัวหน้าโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เฉพาะในปี 2553 นักวิจัยไทยได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในประเทศไทยมากถึง 23 ชนิด ทั้งพืช และสัตว์ อาทิ หอยนักล่าเกลียวเชือก, ทากดูดเลือดลายจุดเขาใหญ่, ไรอะดามิสไทย, ตะเข็บน้อยหนังช้าง, แตนเบียนหนวดยาวฟาลิเซีย, แตนเบียนหนวดยาวสุพจน์, หอยต้นไม้ลายจุด, กิ้งกือมังกรสีชมพู, กบห้วยขาปุ่มจารุจินต์, โฮย่าบาลา และหญ้าข้าวป่าไทย เป็นต้น ซึ่งการค้นพบดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งทางการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม

ด้าน ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ค้นพบ “หอยนักล่าเกลียวเชือก” กล่าวว่าหอยดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์ของงานนี้ เนื่องจากเป็นการค้นพบหอยวงศ์ใหม่ของโลก (Diapheridae) รูปร่างต่างจากหอยทั่วไป มีเปลือกสีขาว รูปทรงกระบอกเรียว เวียนขวา ปลายยอดมนทู่ สูงประมาณ 5 มิลลิเมตร มี 8-9 ชั้น พบมากตามพื้นที่ชื้น มีเศษซากใบไม้ทับถมเน่าเปื่อย โดยเฉพาะในแนวเขาหินปูน มักหลบซ่อนอยู่ใต้ซากใบไม้ในตอนกลางวัน และมักออกหากินหลังฝนตก ช่วงที่มีอากาศชื้น และตอนกลางคืน โดยจะล่าหอยชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า และไข่แมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร หอยนักล่าเกลียวเชือกมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในพื้นที่ด้านการควบคุมประชากรแมลงไม่ให้มีมากเกินไป หอยในสกุลนี้ส่วนใหญ่พบในประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ 40 ชนิด ในประเทศอื่น ๆ แถบอินโดจีนพบ 5 ชนิด สำหรับหอยนักล่าเกลียวเชือกชนิดนี้พบเฉพาะในภาคตะวัน ออกของไทย ในเขต อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และอ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว

ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้เรายังพบ “แตนเบียนหนวดยาวสุพจน์”(Hannongbuai) ซึ่งตั้งตามชื่อสกุลเพื่อเป็นเกียรติกับ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ คนปัจจุบัน โดยแตนชนิดดังกล่าวมีความยาวลำตัวประมาณ 12-13.5 มิลลิเมตร ความยาวปีกคู่หน้า 10.5-11.5 มิลลิเมตร ลำตัวและขามีสีเหลืองส้ม แต่หน้ามีสีดำ พบได้ทั่วไปในประเทศอินโดนีเซีย และพม่า สำหรับประเทศไทยพบที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และน้ำตกวชิรธารในอุทยานแห่งชาติดอย อินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ส่วนหอยต้นไม้ลายจุด มีลักษณะเปลือกเป็นทรงกรวย เปลือกบาง มีขนาดเล็ก ส่วนยอดแหลมและมีจุดสีดำ เปลือกสูง 5-10 มิลลิเมตร เวียนขวา พบอาศัยตามใต้ใบไม้และกิ่งของต้นไม้พุ่มขนาดเล็กจนถึงปานกลาง ในพื้นที่ป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง หอยสปีชีส์นี้อาจจะกินใบไม้บนต้นไม้ หรือไลเคนส์ที่ขึ้นตามต้นไม้ที่หอยอาศัยอยู่เป็นอาหาร พบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และพบการแพร่กระจายเพิ่มเติมที่เขาม้าร้อง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขาพนมวัง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช.
ที่มา เดลินิวส์