วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ผ่ากลยุทธ์วอลโว่ พิชิตยอดโต100%

ผ่ากลยุทธ์วอลโว่ พิชิตยอดโต100%วอลโว่ปลุกกลยุทธ์ Tie-in กระตุ้นยอดขาย ตั้งเป้าหมายเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 500 คันในปีที่ผ่านมาสู่ 1,000 คันในปีนี้ พร้อมดันเวิร์น ดีลเลอร์รายใหญ่ในกรุงเทพฯ ขยายตลาดผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ เตรียมเสริมทัพด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้ง S40 ซีดาน และแวน รวมทั้ง S60 ปูทางเพิ่มตลาดรถยนต์ประกอบในประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันตลาดรถหรู

แม้การโฆษณาประชาสัมพันธ์จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง แต่การเลือกใช้กลยุทธ์โฆษณาแฝง ก็เป็นอีกวีธีหนึ่งที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการโฆษณาแฝงแบบ Tie-in ผ่านละครโทรทัศน์ในช่วงที่ผ่านมาของวอลโว่ ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี อาทิเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง ทัดดาวบุษยา ทางช่อง 3 ที่พี่งจบไป

การนำรถยนต์วอลโว่ รุ่นธงโดยเฉพาะ XC90 เข้าไปร่วมในฉาก ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดความประทับใจในภาพลักษณ์ และความสวยงามของตัสผลิตภัณฑ์ แหล่งข่าวจากวอลโว่ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงละครออนแอร์ จนถึงละครจบไปแล้ว มีลูกค้าเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นที่นำเข้าใช้ถ่ายละคร และอีกบางส่วนมีการสั่งซื้อรถยนต์รุ่นนั้นๆ

การทำตลาดผ่านกลยุทธ์แบบ Tie-in ในละคร อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีบริษัทรถยนต์หลายแบรนด์ที่เข้าไปทำ แต่ครั้งนี้ถือได้ว่าวอลโว่ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเนื้อเรื่องละครได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจำนวนมากนั้นเอง และกลยุทธ์ดังกล่าวน่าจะมีให้เห็นต่อเนื่องในปีนี้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดีกลยุทธ์ Tie-in อาจสร้างปรากฏการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น และการทำตลาดรถยนต์หลักๆ จะอยู่ที่พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ล่าสุดวอลโว่ได้นำเข้ารถยนต์ C30 รุ่นปรับโฉมใหม่ในแบบไมเนอร์เชนจ์ และ S80 รุ่นซูพีเรียร์ สำหรับ C30 นั้น มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ให้โดดเด่นในสไตล์สปอร์ตยิ่งขึ้น ด้านหน้าออกแบบกันชนหน้าใหม่ที่โค้งขึ้น ช่องลมด้านหน้าถูกออกแบบให้ใหญ่ขึ้นคล้ายกับในรุ่นเอ็กซ์ซี60 เป็นต้น มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1.999-2.539 ล้านบาท

ขณะที่ S80ซูพีเรียร์ นั้น มีการเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในระดับราคาที่ต่ำลงคือ2.79 ล้านบาท โดยรุ่น S80 เดิมอยู่ที่กว่า 3 ล้านบาท ทำให้ราคาเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญของวอลโว่ในตลาดรถหรู ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดอัตราภาษีนำเข้าของเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้านั้นเอง

ฉันทนา วัฒนารมย์ ประธาน บริษัท วอลโว่ คาร์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายที่ว่างไว้ทั้งหมด 1,000 คัน จะมาจากรถยนต์รุ่น S80 เป็นหลักคือ 40% ขณะที่รถยนต์ครอสโอเวอร์ XC90 และรถยนต์นั่งแวน V40 จะมีสัดส่วนเท่ากันคือ 20% สำหรับรุ่น S 40 จะมีสัดส่วน 10% ขณะที่XC60 และ C30 นั้นจะมีสัดส่วนเท่ากันคือ 5% นอกจากนี้ในช่วงปลายปีวอลโว่ จะเพื่มรุ่น S60 โฉมปรับปรุงใหม่เข้าไปในตลาดอีก 1 รุ่น เพื่อเพิ่มความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

สำหรับด้านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายนั้น แรงค์ พี.ที.โอ คอร์เนอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ของออโตโมทีฟ เวิร์น ประเทศไทย เป็นตัวแทนจำหน่ายที่มีศัยภาพที่สุดเท่าที่วอลโว่ประเทศไทยเคยมีมาก่อน อีกทั้งการเตรียมขยายเครือข่ายในรูปแบบศูนย์บริการย่อยในพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจาก 2 สาขาหลักคือ หัวหมาก และลาดพร้าว น่าจะทำให้วอลโว่เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดรถหรูในกรุงเทพฯได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งของวอลโว่ คือ การแข่งขันด้านราคา เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ทั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ราคาของวอลโว่ อยู่ในตำแหน่งที่ลูกค้าสามรรถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกกว่า เมื่อจุดอ่อนในด้านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเริ่มลดลง ผู้บริโภคเริ่มกลัลมาเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ และแบรนด์มากยิ่งขึ้น โอกาสการเติบโตในตลาดรถหรูก็มีเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้นการเพิ่มสัดส่วนรถยนต์รุ่นประกอบในประเทศ หรือซีเคดี ที่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งส่งผลต่อการทำตลาดในระดับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งขันในตลาด ฉันทนาบอกว่า การทำตลาดรถซีเคดียังเป็นนโยบายหลักของวอลโว่ในประเทศไทย ปัจจุบันนอกจากรุ่นเอส80 และรถอเนกประสงค์รุ่นเอ็กซ์ซี90 แล้ว วอลโว่อยู่ระหว่างการเจรจาขอประกอบครอสโอเวอร์รุ่น XC60 ในไทยอีกรุ่น

“การทำซีเคดีในไทยจะทำให้ส่วนต่างของราคา ลดลงจากการนำเข้าแบบซีบียูเป็นล้านบาท ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถวอลโว่ได้ง่ายขึ้น" ฉันทนากล่าว

วอลโว่กับอนาคตที่สดใส

ช่วงเวลา 2 เดือนแรกของปี 2553 วอลโว่ทำยอดขายรถยนต์ทุกรุ่นไปแล้ว 70 คัน ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำยอดขายได้ 287 คัน และบีเอ็มดับเบิลยู 212 คัน ขณะที่ตลาดรถยนต์ระดับหรูในเมืองไทยมีปริมาณปีละราวๆ 7,000 คัน การตั้งเป้าหมาย 1,000 คันของวอลโว่ ถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 7% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในตลาดรถหรูนั้น ยังมีแบรนด์รถยนต์จากยุโรปอีกหลายๆ แบรนด์อาทิเช่น ซีตรอง เปอโยต์ และออดี้ เป็นต้น ยังไม่รวมรถยนต์เลกซัส รถหรูจากค่ายโตโยต้า ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 330 คัน ซึ่งในเวลานี้คงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เป้าหมายของแต่ละแบรนด์จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับวอลโว่นั้น การตั้งเป้ายอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 100% พร้อมกับการจัดทัพรถยนต์หลายๆ รุ่นหลายเซ็กเมนท์เข้ามาในตลาดปีนี้ ถือเป็นการรุกตลาดครั้งใหญ่ของวอลโว่

ยังไม่รวมกับการซื้อกิจการวอลโว่ของ จีลี่ โฮลดิ้ง บริษัทรถยนต์อิสระรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งน่าจะมีผลต่อการขยายตัวของแบรนด์วอลโว่ ในอนาคต โดยเฉพาะในแถบเอเซีย ยิ่งน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ถึงอนาคตของวอลโว่ ในประเทศไทย

ที่มาhttp://www.managerweekly.com/