วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ย้อนรอยอดีตก่อนศาลโลกพิพากษา กรณีปัญหา”มรดกโลกเขาพระวิหาร”

เป็นที่ทราบกันไปแล้วทั่วโลก เกี่ยวกับคดีปราสาทเขาพระวิหารที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลโลกล่าสุด ซึ่งศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีคำสั่งพิพากษาให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารทั้งสองฝ่าย จากพื้นที่ขัดแย้งรอบปราสาทพระวิหาร โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่พิพาทเป็นเขตปลอดทหาร นอกจากนี้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาเปิดโต๊ะเจรจาขจัดข้อขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งให้ไทยและกัมพูชายอมให้เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์พื้นที่ขัดแย้งดังกล่าวด้วย
หลังจากมีคำตัดสินของศาลโลกออกมาแล้ว ก็มีเสียงสะท้อนจากมุมมองของหลายฝ่ายในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าวว่าจะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนบริเวณเขาพระวิหารลดลงไป การที่ให้ 2 ประเทศถอนทหารออกไปในเขตพื้นที่พิพาท ก็จะทำให้ไม่มีการเผชิญหน้ากัน เพราะถ้ายังมีทหารประจันหน้ากันอยู่ก็อาจจะเป็นเหตุให้ปะทะกันจนชุมชนชายแดนของ 2 ประเทศได้รับความเดือดร้อน คำตัดสินของศาลโลกไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เป็นการแก้ไขระยะยาวเพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหานี้เกิดความสงบสุขขึ้นมา แต่ก็มีบางฝ่ายมองว่าคำตัดสินของศาลโลกทำให้ไทยเสียเปรียบ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก

ขอย้อนถอยหลังกลับไปดูสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา กรณีพิพาทพรมแดนพื้นที่ปราสาทพระวิหาร บริเวณชายแดน จ.ศรีสะเกษ ที่เกิดปะทุกขึ้นมาเป็นระยะ ๆ น่าจะเริ่มจากประมาณปีพ.ศ. 2550 หลังจากประเทศกัมพูชา ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ให้ขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก โดยแผนที่ที่กัมพูชาแนบท้ายว่าเป็นอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารนั้นได้ขีดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในบริเวณทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาท ซึ่งเป็น พื้นที่ทับซ้อน

กรณีดังกล่าวทำให้กระทรวงต่างประเทศของไทยในขณะนั้นที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลพยายามหารือกับทางกัมพูชา เพื่อให้ร่วมกับฝ่ายไทย จดทะเบียนโบราณสถานอื่นในเขตไทยและพระวิหารของกัมพูชาร่วมกันในทีเดียว เพื่อความสมบูรณ์ของบริเวณพระวิหาร และให้กัมพูชาเปลี่ยนแผนที่ให้ไม่ล้ำเข้ามาในเขตไทยและพื้นที่ทับซ้อน พร้อมยังขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 เลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนของกัมพูชาออกไป นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของปราสาทพระวิหารก็ได้ถูกจับตามองของทั้ง 2 ประเทศอีกครั้ง

โดยในช่วงต้นปี 2551สภากลาโหมของไทย มีมติประท้วงกัมพูชากรณีเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ลำพัง พร้อมกล่าวหาว่ากัมพูชาสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จากนั้นวันที่ 14 พ.ค.51 นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ สมัยนั้น ได้หารือร่วมกับนายสก อาน ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาตกลงที่จะเปลี่ยนแผนที่ที่แนบในเอกสารคำขอยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยจดทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทประวิหารเท่านั้น (ตัวปราสาทนี้ศาลโลกได้พิพากษาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 แล้วว่าเป็นของกัมพูชา) ซึ่งทางกัมพูชาส่งแผนผังที่ปรับแก้ไขใหม่มาให้ฝั่งไทย กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบว่าแผนที่ใหม่ที่ส่งมานั้นไม่มีการล้ำเข้ามาในเขตไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติจึงได้พิจารณาเห็นชอบ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม

ต่อมาวันที่ 18 มิ.ย.51 นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศได้ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายกัมพูชาและยูเนสโก จึงส่งผลทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่นายนพดล ออกจากตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ เนื่องจากไม่ยอมเปิดเผยแผนที่ให้ประชาชนได้รับรู้ หลังจากตกลงร่วมกับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากพบว่า แผนผังที่ร่างโดยกัมพูชาล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยไม่น้อยกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ฝ่ายไทยที่ยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2505

กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย.51 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.และใช้เวลาไต่สวนกว่าสิบชั่วโมง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ขณะที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านขณะนั้นก็ ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อตกลงกับกัมพูชาว่าเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ ต่อมาวันที่ 8 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญา ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาก่อน อย่างไรก็ดีวันที่ 8 ก.ค.51 ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมกับสถานที่อื่นอีก 4 แห่ง กระทั่งกลางปี 2552 ทหารประเทศกัมพูชาได้ปะทะกับทหารไทยด้วยอาวุธเป็นครั้งแรกบริเวณชายแดนปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ และวันที่ 22-30 มิ.ย.52 มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 33 ที่เมืองเซบีญา ประเทศสเปน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการมรดกโลก ว่า ไม่เป็นไปตามธรรมนูญของสหประชาชาติ

ในระหว่างปี 2553 เรื่องราวของปัญหาปราสาทพระวิหาร เงียบหายไปเกือบทั้งปี แต่พอมาถึงช่วงปลายปี 2553มีเหตุการณ์ปัญหาเกิดขึ้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ก็คือเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.53 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับพวกจำนวน 6 คน ซึ่งบางส่วนเป็นสมาชิกเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชาควบคุมตัวขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอ.โคกสูง จ.สระแก้ว ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้านภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ต.โอเบยเจือน อ.โจรว จ.บันเตียเมียนเจย ในเบื้องต้น ศาลเขตพนมเปญ ได้ตั้งข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเขตทหาร ได้ถูกนำตัวไปขังไว้ในเรือนจำเปนย์ ซาร์ นอกกรุงพนมเปญ ภายหลังถูกคุมขังนานเกือบ 1 เดือน เมื่อวันที่ 21 ม.ค.54 ศาลกัมพูชาได้พิจารณาตัดสินคดี ว่านายพนิช และคนไทยอีก 4 คน มีความผิดฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยให้จำคุกคนละ 9 เดือน แต่ให้ลดเหลือ 8 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ก่อน หลังจากการตัดสินดังกล่าว ทำให้ทั้ง 5 คนสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที เหลือเพียงนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ยังถูกคุมขังอยู่เนื่องจากถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของกัมพูชา

หลังจากนั้นความตึงเครียดตามแนวชายแดนทั้งไทยและกัมพูชาก็เริ่มปะทุขึ้นมา นับตั้งแต่เดือนก.พ.54 ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาบริเวณ ชายแดนด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หลายครั้งด้วยกัน เหตุการณ์รุนแรงครั้งแรก ช่วงระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ.54 มีทั้งทหาร-พลเรือนเสียชีวิต และบ้านเรือนประชาชนเสียหาย และระหว่างวันที่ 22 เม.ย.- 2 พ.ค.54 เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนด้านปราสาทตาควาย ต.บักได และปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเปียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ และ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ มีทหารเสียชีวิตรวม 7 นาย บาดเจ็บ 120 นาย ราษฎรเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย

มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารโด่งดังขึ้นอีกครั้งที่คิดว่ายังจำกันได้ดี ก็คือเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.54 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ตัดสินใจประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกอนุสัญญาการคุ้มครองมรดกโลกต่อที่ประชุม โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากร่างมติกลางที่ศูนย์มรดกโลกนำเข้าสู่การพิจารณา มีการตัดเรื่องแผนบริหารจัดการรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารในข้อ 6 ซึ่งยังไม่มีข้อยุติออกไป หากยังพิจารณาร่างนี้จะเท่ากับไทยยอมรับแผนฯ จึงยืนยันว่าไทยไม่ยอมรับแผนฯและพยายามขอให้เลื่อนวาระเรื่องดังกล่าวออกไป

อย่างไรก็ดี ผลการตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่กรณีพิพาทออกไปนั้น คาดว่าทหารทั้ง 2 ประเทศคงจะไม่ถอนออกไปแบบทันทีทันใด คงไม่มีประเทศไหนถอนทหารออกไปก่อนอีกประเทศหนึ่งแน่ โดยคณะกรรมการชายแดนไทยและกัมพูชาจะต้องเปิดโต๊ะเจรจากันตามคำพิพากษาของศาลโลกเพื่อที่จะถอนทหารทั้ง 2 ประเทศถอนออกจากพื้นที่พิพาทพร้อมกัน

ดังนั้น หน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะต้องดำเนินการเป็นไปตามคำตัดสินของศาลโลกและเจรจากับประเทศกัมพูชาให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันที่จะนำสันติภาพและความสงบสุขมาสู่ประชาชนตามชายแดนทั้ง 2 ประเทศ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ คำตัดสินของศาลโลกดังกล่าวจะต้องทำให้ประเทศไทยและกัมพูชา วิน-วิน ด้วยกัน ไม่ใช่หาเหตุจากคำตัดสินมายิงกันไปยิงกันมา!!
ที่มา เดลินิวส์