วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไขปริศนาลี้ลับผืนป่าแก่งกระจาน อากาศ–อาถรรพณ์–อาฆาต??

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ยังกล่าวขานกันถึงอยู่ในขณะนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ (Huey) เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก (Black Hawk) และเฮลิคอปเตอร์เบลล์ (Bell) เกิดอุบัติเหตุตกที่ผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในเวลาทิ้งห่างกันไม่นานเพียงแค่ 9 วันเท่านั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 17 ศพ ฮ.ลำแรกเสียชีวิต 5 ศพ ฮ.ลำที่ 2 เสียชีวิต 9 ศพ และ ฮ.ลำที่ 3 เสียชีวิต 3 ศพ โดยมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นที่มีผู้รอดชีวิตมา 1 ราย ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวนั้นได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุอาถรรพณ์ต่าง ๆ ของป่าแก่งกระจาน ที่เป็นเหตุสะเทือนขวัญเศร้าสลดของคนทั้งประเทศ
เรื่องอาถรรพณ์นั้นเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล และเป็นความเชื่อของคนในท้องที่แต่ละแห่งที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อว่ามีอาถรรพณ์ โดยเฉพาะจุดที่ ฮ.ประสบอุบัติเหตุนั้น เป็นทั้งหุบเขาและเหวลึก ทำให้มีกระแสลมแรงในบริเวณดังกล่าว และที่สำคัญมีศาลเจ้าพ่อเขาพระพวง ที่ชาวกะเหรี่ยงอาศัยในบริเวณดังกล่าวให้ความเคารพและนับถือกันมาก เพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิต่าง ๆ ซึ่งเป็น “หุบเขาอาถรรพณ์” ของชาวกะเหรี่ยง

อาถรรพณ์ของหุบเขาแห่งนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เป็นแรงอาถรรพณ์ของแรงอาอาฆาตของชาวกะเหรี่ยง ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของไทยผลักดันออกไปจากพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอยู่อาศัยอยู่กลางป่าลึก เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงบุกรุกต้นน้ำเพชร และบริเวณต้นน้ำห้วยใหญ่ หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่าแม่น้ำที้กรูพะดู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเก่าแก่ของกะเหรี่ยงมากว่า 100 ปี จนทำให้เป็นแรงอาฆาตของชาวกะเหรี่ยงก็ได้

นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นคุณปู่ที่ได้อาศัยอยู่บริเวณผืนป่าแก่งกระจานที่ชื่อ “คออี๋” อายุ 103 ปี ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและพรานป่าจอมขมังเวทย์แห่งเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งชาวกระเหรี่ยงใน จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ให้ความเคารพนับถือ เปิดเผยความอาถรรพณ์กับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุ ฮ. ตกทั้ง 3 ครั้งรวมทั้งสิ้น 17 ศพ ซึ่งเลข 7 ถือเป็นเลขอาถรรพณ์และเลขแห่งความตายของชาวกะเหรี่ยงโบราณ โดยเลข 7 หากเขียนกลับหัวจะตรงกับภาษาของชาวกะเหรี่ยงว่า “ตาย”

ไม่ว่าจะเป็นแรงอาถรรพณ์หรือแรงอาฆาตอะไรก็ตาม แต่อุบัติเหตุของ ฮ.ทั้ง 3 ลำ 3 รุ่นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ให้มีการระมัดระวังตรวจสอบอย่างรอบคอบในการปฏิบัติงานของ ฮ.ในภารกิจต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของชีวิตคนและ ฮ. ไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดที่มีติดต่อกันเช่นนี้อีก

แม้ว่าป่าแก่งกระจานจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นอย่างดีแล้ว การเกิดเหตุ ฮ.ตกติดต่อกัน 3 ลำก็ทำให้ป่าแก่งกระจานเป็นที่รู้จักให้คนทั้งประเทศมากยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องลึก ๆ ของป่าแก่งกระจาน จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลป่าแก่งกระจานมาให้ได้รับทราบกัน ดังนี้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.แก่งกระจาน อ.หนองหญ้าปล้อง อ.ท่ายาง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม และเขื่อนแก่งกระจาน อีกทั้งยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศ คือมีเนื้อที่ประมาณ 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,875 ไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2524 สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี จึงเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย

ความสวยงามของอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวย่อมสัมผัสได้ แต่ผืนป่าแห่งนี้ไม่สามารถเข้ามาได้ทุกที่ทุกเดือน เพราะความงามของป่าแก่งกระจานในบางพื้นที่อาจมีภัยอันตรายได้อย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงต้องปิดรับนักท่องเที่ยวและที่พักอาศัย (เฉพาะที่พักโซนที่ 3) ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นประจำปี (เฉพาะแค้มป์บ้านกร่าง และเขาพะเนินทุ่ง ) ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

สำหรับยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือ ยอดเขา “งะงันนิกยวงตอง” อยู่ในเขตรอยต่อประเทศไทย-พม่า มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือ ยอดเขา “พะเนินทุ่ง” ความสูง 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถูกจัดเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งของเมืองไทย โดยมีจุดเด่นในเรื่องความงดงามของธรรมชาติอันสมบูรณ์ ในช่วงเดือนเมษายนจะมี ลานผีเสื้อ ในป่าแก่งกระจาน นอกจากนี้ฤดูหนาวความงามของ ทะเลหมอก สามารถมองเห็นได้บนยอดเขาพะเนินทุ่ง

ส่วนลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ติดต่อกันเป็นอาณาเขตกว้าง ยอดสูงสุดประมาณ 1,200 เมตร โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี

ทางด้านลักษณะภูมิอากาศ ซึ่งสภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก ทำให้เกิดดินฟ้าอากาศแปรปรวนอย่างคาดไม่ถึงตลอดเวลา จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว

พื้นที่ส่วนใหญ่ในป่าแก่งกระจานเป็นป่าดงดิบชื้น คือ มีประมาณ 80% ของพื้นที่ และอีก 20% เป็น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ทั้งยังมีลักษณะเด่นในบางพื้นที่เป็นป่าเต็งรังผสมกับไม้สนซึ่งเป็นสนสองใบ ตามธรรมชาติ มีพรรณไม้มีค่าทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ตะเคียนทอง ประดู่ มะค่า กฤษณา ฯลฯ นับได้ว่าป่าแก่งกระจานมีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

สัตว์ป่าหลายชนิดก็มีอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะชุกชุมด้วยสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า โดยเฉพาะช้างที่เคยจับได้เป็นช้างเผือก ซึ่งราษฎรชาวจังหวัดเพชรบุรีได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้วถึง 4 เชือก นอกจากนั้นสัตว์อื่นๆ เช่น กระทิง เก้ง เสือ กวาง ค่าง ลิง ชะนี หมี และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน นกชนิดต่าง ๆ และจระเข้น้ำจืดหรือจระเข้ตีนเป็ดในหนองน้ำลำห้วยต้นแม่น้ำเพชรบุรี

ความงามของผืนป่าธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไหนทั่วประเทศไทยก็มีความสวยงามที่สัมผัสได้ แต่ความสวยนั้นมักจะแฝงด้วยภยันตรายต่าง ๆ ที่มักจะมีการร่ำลือกันถึงเรื่องอาถรรพณ์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ธรรมชาติ ความงาม อาถรรพณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรลบหลู่เด็ดขาด!!
ที่มา เดลินิวส์