วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เส้นทางน้ำ 14 คลอง 7 อุโมงค์ยักษ์ ตัวช่วย กทม. พ้น ‘น้ำท่วม’ ได้แค่ไหน?

เส้นทางน้ำ 14 คลอง 7 อุโมงค์ยักษ์ ตัวช่วย กทม. พ้น ‘น้ำท่วม’ ได้แค่ไหน? กรุงเทพมหานคร จุดศูนย์กลางของประเทศ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ไม่อาจรอดพ้นอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ไปได้ แม้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามป้องกันเมืองชั้นในและสถานที่สำคัญเอาไว้ แต่ก็มิอาจการันตีได้เต็มร้อย

พื้นที่ทั้งหมดของกทม. ประกอบด้วย 50 เขต คือ พระนคร ดุสิต หนองจอก บางรัก บางเขน บางกะปิ ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง มีนบุรี ลาดกระบัง ยานนาวา สัมพันธวงศ์ พญาไท ธนบุรี บางกอกใหญ่ ห้วยขวาง คลองสาน ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางขุนเทียน ภาษีเจริญ หนองแขม ราษฎร์บูรณะ บางพลัด ดินแดง บึงกุ่ม สาทร บางซื่อ จตุจักร บางคอแหลม ประเวศ คลองเตย สวนหลวง จอมทอง ดอนเมือง ราชเทวี ลาดพร้าว วัฒนา บางแค หลักสี่ สายไหม คันนายาว สะพานสูง วังทองหลาง คลองสามวา ทุ่งครุ บางบอน บางนา และทวีวัฒนา


มีเส้นทางน้ำที่สัมพันธ์กับคลองต่าง ๆ 14 สาย ได้แก่ บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ เจอคลองบางเขน, บางซื่อ จตุจักร ดินแดง เจอคลองบางซื่อ, บางซื่อ จตุจักร ดอนเมือง เจอคลองเปรมประชากร, วังทองหลาง ลาดพร้าว เจอคลองลาดพร้าว, ดุสิต พญาไท ราชเทวี ห้วยขวาง เจอคลองสามเสน, ป้อมปราบฯ วัฒนา วังทองหลาง บึงกุ่ม เจอคลองแสนแสบ, ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา เจอคลองมหาสวัสดิ์, รัชดาภิเษก เจอคลองน้ำแก้ว, ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา เจอคลองบางพรม, ทวีวัฒนา เจอคลองบางเชือกหนัง, ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม เจอคลองบางแวก, บางบอน เจอคลองพระยาราชมนตรี, ภาษีเจริญ บางแค เจอคลองบางจาก และบางขุนเทียน เจอคลองพิทยาลงกรณ์

พ่อเมืองกรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร วางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบระบบพื้นที่ปิดล้อม โดยก่อสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอก ไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งขีดความสามารถของคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำฯ ได้ที่ +2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) หรืออัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่ก็จะก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อระบายน้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วม มีการก่อสร้างคันน้ำด้านตะวันออกตามแนวพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำบ่าจากทุ่งด้านเหนือและด้านตะวันออก ความยาว 72 กม. และแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน เข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 77 กม.

ส่วนการระบายน้ำแบ่งได้ดังนี้ 'ท่อระบายน้ำ' เพื่อระบายน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ มีความยาว รวม 6,400 กม. ตลอดจน 'คู คลอง ระบายน้ำ' เพื่อระบายน้ำฝนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 1,682 คลอง ยาว 2,604 กม. 'สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ' เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ มีขีดความสามารถระบายน้ำ 1,584 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบไปด้วย สถานีสูบน้ำ 158 แห่ง ประตูระบายน้ำ 214 แห่ง บ่อสูบน้ำ 180 แห่ง ยังมี 'การเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่' ติดตั้งในจุดอ่อนน้ำท่วม และพื้นที่วิกฤต รวม 1,152 เครื่อง ประสิทธิภาพ รวม 692 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และวิธี 'พร่องน้ำในแก้มลิง 21 แห่ง' เตรียมรองรับน้ำฝนได้ 12.75 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ก็มี 'ช่องทางระบายที่สำคัญอุโมงค์ระบายน้ำ' ทั้งหมดที่เปิดดำเนินการขณะนี้ 7 แห่ง อันประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาว 1,100 เมตร แล้วเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2526 อุโมงค์ระบายน้ำ ถนนประชาราษฎร์ 2 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาว 1,880 เมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 อุโมงค์ระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.40 เมตร ยาว 679 เมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตร ยาว 1,900 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2546

อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ยาว 1,320 แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ยาว 1,100 เมตร แล้วเสร็จเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 เมตร ยาวประมาณ 5.98 เมตร แล้วเสร็จเดือนกันยายน พ.ศ. 2550

ล่าสุด อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว หรือ อุโมงค์ยักษ์ พระราม9-รามคำแหง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.00 เมตร ยาวประมาณ 5.1 กิโลเมตร แล้วเสร็จเปิดดำเนินการเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 เป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดที่กทม.เคยมีมา ระบายน้ำได้ปริมาณมากกว่า 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จุดเริ่มต้นการสูบน้ำที่คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และ คลองประเวศ ลงสู่คลองพระโขนง ก่อนจะผันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยะ

หากรวมทั้ง 7 อุโมงค์ที่แล้วเสร็จระยะทาง 19.13 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 155.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทำอย่างไรต่อไปเมื่อมวลน้ำทั้งหมดไหลลงมาสู่กรุงเทพฯ? นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แนะนำวิธีการระบายน้ำออกทะเลไว้อย่างน่าสนใจ โดยการแบ่งพื้นที่กรุงเทพฯต้องแบ่งเป็น 3 ลำดับ คือ กรุงเทพฯชั้นใน รักษาพื้นที่ให้น้ำผ่านเข้า คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองประเวศ เท่านั้น แต่ต้องให้น้ำอยู่ในระดับคันคลอง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯชั้นใน ไม่ได้เตรียมไว้เพื่อรองรับน้ำหลาก หากน้ำล้นเข้าไปมากเกินไปเวลาจะเอาน้ำออกจะลำบาก

ส่วน กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก เช่น มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา ต้องเป็นฟัดส์เวย์ทางน้ำผ่านออกบางปะกง แต่ต้องควบคุมไม่ให้น้ำเข้ามามาก เพราะอาจกระทบสนามบินสุวรรณภูมิได้ ด้าน กรุงเทพฯย่านฝั่งธนบุรี ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากได้ เพราะมีคลองย่อยหลายสาขาที่สามารถผลักดันน้ำออกทะเลท่าจีนได้เร็ว

ณ วินาทีนี้ ก็จะต้องติดตามดูว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านเข้าคลองต่าง ๆ 14 สายที่เชื่อมสัมพันธ์กัน พร้อมทั้ง 7 อุโมงค์ยักษ์ของ กทม. จะสามารถผลักดันมวลน้ำมหาศาลออกสู่ทะเลได้มากน้อยเพียงใด

ถ้าผนึกกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ น้ำอาจจะไม่ท่วมเต็มพื้นที่กทม. อาจท่วมแค่ 50-50 ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

แต่ที่ชาวกทม.ลุ้นระทึกอยู่ทุกวันนี้ก็คือ น้ำจะท่วมบ้านตนเมื่อไหร่?

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์