วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Ford Start Concept : สำหรับคนเมืองยุคหน้า


Ford Start Concept : สำหรับคนเมืองยุคหน้า
Start Concept ต้นแบบคันสีแดงทรงแฮทช์แบ็ก 3 ประตูของฟอร์ดที่ถูกเปิดตัวในงานปักกิ่ง มอเตอร์โชว์ หรือออโต้ ไชน่า 2010 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม กลายเป็นประเด็นที่ถูกทำให้เกิดความน่าสนใจอีกแล้วว่า ฟอร์ดกำจะเดินหน้าสู่การเอาจริงเอาจังในการเปิดตลาดรถยนต์ไซส์เล็กสำหรับคนเมืองในยุคหน้า เพราะต้นแบบรุ่นนี้อาจจะไม่ได้มีการจัดแสดงเพื่อสร้างความฮือฮาเท่านั้น แต่อาจจะมีการผลิตขายจริงในอนาคตด้วย

ภายใต้แนวคิด ONE Ford ที่นำมาใช้กับรถยนต์ 2 รุ่น คือ เฟียสตา และโฟกัสใหม่ ทำให้ข่าวนี้ได้รับความสนใจว่าฟอร์ดกำลังมองหาจิ๊กซอว์ชิ้นที่ 3 ในการเติมเต็มตลาดรถยนต์นั่งให้ครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่ A-C ที่สามารถวางขายได้ในทุกตลาดทั่วโลก โดยในตอนนี้ B และ C มีแล้วคือ เฟียสตาและโฟกัส ส่วน A หรือ Super Mini ยังขาดอยู่ เพราะแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรุ่นกา-KA เจนเนอเรชันที่ 2 ซึ่งเปิดตัวในปี 2008 ทำตลาดอยู่ แต่ก็เน้นไปที่ยุโรป และก็ไม่ได้โดนกล่าวถึงว่าเป็นส่วนหนึ่งตามแนวคิด ONE Ford เลย

นั่นก็เลยถูกจับมาโยงว่า Start Concept น่าจะเป็นของใหม่ที่เข้ามาสอดแทรกช่องว่างที่เหลืออยู่นี้

ตัวรถได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากทิศทางการเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะในมหานครที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 50% ของโลกอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ภายในพ.ศ. 2593 จำนวนดังกล่าวจะพุ่งทะยานขึ้นสูงกว่า 70%

นักออกแบบของฟอร์ด จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างสรรค์รถยนต์ขนาดเล็กแบบสปอร์ต เพื่อตอบสนองความต้องการ และแนวคิดของคนเมืองยุคหน้า ซึ่งจะต้องเผชิญกับท้องถนนอันแออัด ลานจอดรถที่ไม่เพียงพอ ความกังวลต่อการประหยัดน้ำมันของรถ รวมทั้งปริมาณ และราคาของน้ำมันในปัจจุบัน โดยปัจจัยเหล่านี้จะผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อยานพาหนะ และการเดินทางต่างไปจากเดิมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ สตาร์ท คอนเซ็ปต์ คือการออกแบบรถที่ตอบสนองการเดินทางในมหานครทั่วโลก และเป็นมากกว่ายนตรกรรมทันสมัย ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยี แต่เราต้องการออกแบบรถที่คุณจะต้องตกหลุมรัก” ฟรีแมน โธมัส ผู้อำนวยการด้านการออกแบบกล่าว

“ทีมออกแบบได้นำเสนอผลงานที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่สนุกสนานของการออกแบบ ภายใต้แนวคิด Kinetic Design และยกระดับการเป็นรถที่ขับสนุก ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของรถภายใต้แบรนด์ฟอร์ด อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นปมที่แท้จริงที่ทุกคนจะต้องประสบ ในการออกแบบรถยนต์ในอนาคต” มาร์ติน สมิท ผู้อำนวยการด้านการออกแบบประจำฟอร์ด ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก กล่าว

ขนาดตัวถังมีความยาวรวม 3,700 มิลลิเมตร กว้าง 1,672 มิลลิเมตร สูง 1,400 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร ภายในห้องโดยสารได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดที่ใช้ส่วนประกอบน้อยชิ้น ที่เน้นความเรียบง่ายของห้องโดยสารแบบค็อกพิตของนักบิน 2 ห้องต่อกัน และการออกแบบที่โค้งมนสไตล์ อ่างอาบน้ำ ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 4 คน ห้องโดยสารดังกล่าวจึงมีรูปโฉมที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมคุณภาพที่เหนือกว่า และลดค่าใช้จ่ายจากการก่อสร้างที่เรียบง่ายโดยใช้วัสดุเพียงชิ้นเดียว

แผงควบคุมอุปกรณ์ภายในรถมีปุ่มควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดรวมไว้ด้วยกัน จึงง่ายต่อการย้ายตำแหน่งให้เหมาะสมกับ รถที่มีพวงมาลัยอยู่ทั้งทางด้านซ้ายหรือด้านขวา พื้นที่โดยรอบแผงควบคุมอุปกรณ์ภายในรถ และคอนโซลกลางที่โฉบเฉี่ยว ได้รับการตัดขอบให้มีลักษณะเป็นแผงขนาดใหญ่ชิ้นเดียว โดยเริ่มต้นจากฐานของกระจกหน้า และไหลต่อเนื่องไปยังส่วนล่างสุดของคอนโซลกลาง

จุดที่น่าสนใจของตัวรถคือ เครื่องยนต์ในตระกูล Ecoboost ซึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นรถยนต์สำหรับคนเมือง ทางฟอร์ดเลยจัดการนำขุมพลังแบบ 3 สูบ 1,000 ซีซีมาปรับปรุงตามคอนเซ็ปต์ของ Ecoboost ช่วยประหยัดน้ำมันและปล่อยของเสียในระดับต่ำ พร้อมส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ทั้งนี้ฟอร์ดยืนยันการผลิตเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ในอนาคตอันใกล้ ด้วยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร อีกทั้งเครื่องยนต์เบนซินดังกล่าวยังให้กำลังและสมรรถนะเทียบเท่ากับเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ 1,600 ซีซี

นอกจากนั้น ฟอร์ดยังติดตั้งเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์และยานยนต์ (HMI) อุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของคอนโซลกลาง คือ เทคโนโลยีต้นแบบ มายฟอร์ด โมบาย คอนเซ็ปต์ (MyFord Mobile Concept) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ขับ สามารถสั่งงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องละมือออกจากพวงมาลัย
หากไม่นับโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนแล้ว อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานภายในรถอื่นๆ ประกอบด้วย ระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศ (HVAC) สัญญาณเตือนการทำงานของเครื่องยนต์ และสัญญาณบ่งบอกการปิด/เปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย ที่สามารถมองเห็นและปรับได้ง่ายในขณะขับขี่ ผ่านการสั่งงานด้วยเสียง หรือปุ่มบังคับควบคุมที่ติดตั้งอยู่บนคอนโซลกลาง แสดงผลผ่านหน้าจอกว้าง 6 นิ้ว

ในส่วนของอุปกรณ์เสริม เมื่อผู้ขับเสียบโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนเข้ากับฐานในขณะที่รถเคลื่อนที่ ก็จะสามารถสั่งงานผ่าน มายฟอร์ด โมบาย คอนเซ็ปต์ ให้ระบบค้นหารายชื่อในสมุดโทรศัพท์ ค้นหาเส้นทาง อ่านข้อความในโทรศัทพ์ บอกทิศทาง และใช้งานอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ได้เพียงสั่งงานด้วยเสียง
หากสมาร์ทโฟนได้รับการติดตั้งในขณะที่จอดรถและดับเครื่อง อุปกรณ์เกี่ยวกับการทำงานของรถ และสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานภาพ ของอุปกรณ์ต่างๆ จะแสดงผลผ่านมายฟอร์ด โมบาย คอนเซ็ปต์ โดยหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่จะทำงานผ่านบลูทูธ ขณะที่การสั่งงานรถและระบบเครื่องเสียงจะได้รับการควบคุมผ่านการสั่งงานด้วยเสียง และมายฟอร์ด โมบาย คอนเซ็ปต์ จะ งดการให้บริการบางประเภท เช่น การสั่งพิมพ์ข้อความในขณะขับรถ

เพื่อช่วยให้ผู้ขับสามารถติดตามเทรนด์และพัฒนาการใหม่ล่าสุดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ มายฟอร์ด โมบาย คอนเซ็ปต์ จึงได้รับการสร้างสรรค์ให้มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับการทำงาน ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โทรศัพท์เคลื่อนที่ และตามความต้องการของผู้ขับ
ตอนนี้ยังเป็นต้นแบบ ส่วนอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีการผลิต ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว Start Concept จะกลายเป็นจริงเมื่อไรและมาด้วยชื่ออะไร

ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์