นั่งอย่างไร...ขับรถให้ปลอดภัยการขับรถยนต์ให้ปลอดภัย นอกจากผู้ขับต้องมีความชำนาญแล้ว ท่าทางในการขับก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญว่าจะเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพในการควบคุมรถยนต์ และทัศนวิสัยในการขับ ผู้ขับหลายคนปรับเบาะได้ถูกต้องแล้ว แต่พยายามโยกตัวมาด้านหน้า เพื่อให้มองเห็นปลายของฝากระโปรงหน้า บางคนชอบปรับเบาะให้เอนมากๆ แล้วชะโงกตัวขึ้นมาโหนพวงมาลัยแผ่นหลังจึงไม่สัมผัสพนักพิงอย่างเต็มที่ ทำให้สูญเสียความฉับไวและความแม่นยำในการควบคุมรถยนต์
การปรับตำแหน่งเบาะ ส่วนใหญ่ปรับได้อย่างน้อย 3 จุด คือระยะของเบาะนั่ง มุมเอียงของพนักพิงและระดับสูง-ต่ำของหมอนรองศีรษะ ส่วนการปรับระดับสูง-ต่ำของเบาะนั่งหรือมุมเอียงของหมอนศีรษะ จะช่วยให้ผู้ขับขี่ปรับได้จนเหมาะสมมากขึ้น การปรับเบาะนั่งให้ได้ระยะที่เหมาะสม สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดาทำได้โดยใช้ฝ่าเท้าซ้ายเหยียบแป้นคลัตช์ให้สุด (ไม่ควรใช้ปลายเท้าเหยียบคลัตช์) จากนั้นเลื่อนเบาะให้หัวเข่าซ้ายงอเล็กน้อย
สำหรับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งไม่มีแป้นคลัตช์ ให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบลงบนแป้นพักเท้าหรือพื้นรถยนต์ และใช้ฝ่าเท้าขวาเหยียบแป้นเบรกจนสุดไว้ จากนั้นเลื่อนเบาะนั่งให้หัวเข่าขวางอเล็กน้อย สาเหตุที่ต้องปรับให้หัวเข่ายังงอขณะเหยียบเบรกจนสุด ก็เพื่อไม่ให้ร่างกายรับแรงกระแทกหากเกิดการชน แรงกระแทกจากแป้นเบรกจะดันเข้ามา หัวเข่าที่งออยู่แล้วก็จะสบัดขึ้น ช่วยลดแรงกระแทก แต่ถ้าปรับเบาะไว้ห่างเกินไป จนต้องเหยียบขาตึงเวลาเหยียบเบรก เพราะเมื่อเกิดการชน ขาที่เหยียดตรงจะรับแรงกระแทกเข้ามายังสะโพกแบบเต็มๆ
การปรับมุมเอียงของพนักพิง แผ่นหลังแนบกับเบาะ ให้ใช้มือซ้าย-ขวา จับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา (หรือ 10 และ 2 นาฬิกา) และปรับตำแหน่งพนักพิง กระทั่งข้อศอกทั้ง 2 ข้างหย่อนเล็กน้อย แล้วลองเลื่อนมือไปจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 12 นาฬิกา แขนต้องยังไม่ตึง โดยไม่ต้องโยกตัวขึ้นมา หรือแบมือพาดลงไปด้านบนสุดของวงพวงมาลัย ต้องอยู่บริเวณข้อมือจึงจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการขับมากที่สุด
การนั่งห่างหรือปรับพนักพิงเอนมากไป ทำให้ต้องมีการโยกลำตัวขึ้น-ลงในบางจังหวะที่หมุนพวงมาลัย ทำให้ขาดความฉับไว และการทิ้งน้ำหนักที่ผิดอาจทำให้กระดูกสันหลังมีปัญาหาในระยะยาวได้ การนั่งชิดพวงมาลัยเกินไป อาจเกิดจากความต้องการมองด้านหน้าสุดของฝากระโปรงหน้า เพราะกลัวจะกะระยะไม่ถูก ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะด้านหน้าของรถยนต์ยุคใหม่มักงุ้มต่ำ บางรุ่นต้องชะโงกแบบสุดๆ ถึงจะเห็น
ดังนั้นควรใช้วิธีกะระยะเอาเองดีกว่า ข้อศอกที่งอมากเกินไป ก็ชิดลำตัว ทำให้การหมุนพวงมาลัยไม่คล่อง อีก 2 ประเด็น ที่สำคัญคือ การนั่งชิดพวงมาลัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม้คาดเข็มขัดนิรภัยก็ยังเสี่ยงต่อการอัดเข้ากับพวงมาลัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะเข็มขัดนิรภัยอาจรั้งได้ไม่ทัน
หากมีถุงลมนิรภัยแล้วนั่งชิด ก็อาจกลายเป็นถุงลมมหาภัย เพราะการพองตัวของถุงลมนั้น ทั้งเร็วและแรง หากร่างกายปะทะกับถุงลมนิรภัยยังพองตัวไม่เต็มที่ ก็เท่ากับโดนเสยกลับมา จนบางคนคอหักตาย เพราะถุงลม การปะทะกับถุงลมที่ปลอดภัย คือ ปะทะเมื่อถุงลมพองตัวเกือบหรือเต็มที่แล้ว ด้วยการนั่งให้ระยะห่างพอดี และคาดเข็มขัดนิรภัย
หมอนรองศีรษะ ไม่ได้มีไว้ให้หนุนขณะขับ แต่ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณต้นคอหรือคอหัก หากเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการถูกชนท้าย ที่ศีรษะถูกสะบัดไปด้านหลัง
การปรับระดับของหมอนศีรษะที่เหมาะสม ควรปรับให้ขอบบนของหมอนอยู่ระดับใบหูด้านบน ถ้าหมอนสามารถปรับระดับมุมเอียงได้ ควรปรับให้ใกล้ศีรษะมากที่สุด เพื่อลดการสะบัดของศีรษะเมื่อถูกชนท้าย
ที่มา http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9530000068088