ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้มีการข้ามขั้นตอนและไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติในคดีเงินบริจาค 258 ล้าน จึงมีมติ 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ธ.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมองค์คณะทั้งหมด 7 คน มีกำหนดออกนั่งบัลลังก์นัดพร้อมคู่กรณีเป็นครั้งแรกในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.)ในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ถูกร้อง ในข้อกล่าวหาได้รับบริจาคเงินจำนวน 258 ล้านบาทจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านทางบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ในการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2548 ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ได้เดินทางถึงศาล
โดย นายชวน กล่าวถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีการวินิจฉัยในส่วนของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงด้วยว่า เวลาที่ประชาชนฟังข่าวคำวินิจฉัยก็จะไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าความจริงแล้วพรรคถูกร้อง 5 ประเด็น โดยมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้ทั้ง 5 ประเด็น แต่เวลาตัดสินหรือใช้ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ เราไม่มีสิทธิไปกำหนดว่าในตัดสินในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพราะถือเป็นอำนาจของศาล แต่ถือเป็นเรื่องดีที่ความเห็นส่วนตนของตุลาการฯทุกคนได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการทำให้เกิดความเข้าใจ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิดทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาขยายผลหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คงต้องแล้วแต่รัฐบาล แต่ความจริงแล้วนายจรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เคยออกมาพูดแล้วครั้งหนึ่งว่า คนเข้าใจผิด ไม่ได้อ่านสาระความเห็นที่แท้จริงของตุลาการฯแต่ละคน โดยมองเฉพาะเรื่องเงื่อนเวลา 15 วันเป็นหลัก แต่ตุลาการฯเสียงข้างมากได้อธิบายชัดเจนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้ก็แสดงชัดเจนว่าไม่ได้กระทำความผิดจริง โดยลงลึกในรายละเอียด อย่างไรก็ตามสำหรับคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทนั้น คงต้องรอว่าศาลจะสั่งอย่างไร และไม่ขอพูดเทียบเคียงกับคดีเงิน 29 ล้านบาท
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า การนัดพร้อมคู่กรณีในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาทนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาลว่าจะมีการไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ตนมองว่าทั้งคดีเงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท และคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทนั้นเป็นคดีเดียวกัน เพราะใช้พยานเอกสารเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดก็เป็นพยานชุดเดียวกันกับคดีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านในเสียงข้างมากจะเน้นความเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือบันทึกของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ส่งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา เพราะฉะนั้นการเบิกความของนายทะเบียนจะไม่สามารถเบิกความที่ขัดแย้งกับพยาน เอกสารได้ ยกเว้นเพียงแต่มีพยานหลักฐานใหม่ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่เห็น
"ส่วนตัวผมยังรู้สึกสบายใจอยู่ ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเสียงข้างน้อยเห็นควรให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ และเห็นสมควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผม และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเราต้องเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงจุดนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องรับกันให้ได้” นายบัญญัติ กล่าวและว่า นอกจากนี้หากดูในคำวินิจฉัยส่วนตน ในคดีเงินสนับสนุนพรรคการเมือง29 ล้านบาทจะเห็นได้ชัดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริง เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายข้างมากได้ยืนยันชัดเจนว่าเงินสนับสนุนพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการใช้ตรงตามวัตถุประสงค์แน่นอน และเป็นการวินิจฉัยที่รอบคอบทุกมุมแล้ว
ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายยุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท และคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ถือว่าใช้พยานเอกสารและพยานบุคคลชุดเดียวกันเกือบทั้งหมด อีกทั้งประเด็นในการพิจารณาของทั้ง 2 คดี น่าจะคล้ายคลึงกัน ซึ่งถ้าศาลฯกำหนดประเด็นในการพิจารณาว่าคดีดังกล่าว ก่อนมาถึงศาลฯชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนคิดว่าผลการพิจารณาของตุลาการฯ ก็น่าจะไม่ต่างกัน คือ ในกรณีที่นายทะเบียนฯก็ยังไม่ทำความเห็นยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคดี 258 ล้านบาท เช่นเดียวกับคดี 29 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการนัดพร้อมในวันนี้ ศาลฯน่าจะมีคำสั่งออกมาใน 2 แนวทาง คือ 1. ศาลมีการกำหนดประเด็นการพิจารณา และจำนวนพยานที่จะให้นำสืบเพื่อใช้ในการไต่สวน 2. กรณีศาลฯเห็นว่าข้อมูลหลักฐานที่ได้มามีความชัดเจนแล้วศาลอาจจะชี้ขาดได้ในวันนี้ แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งขององค์คณะที่มีอยู่ 7 เสียง ซึ่งถือเป็นดุลยพินิจของตุลาการฯ
ด้าน นายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 สำนักงานอสส. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง อสส.ยังไม่ได้รับคำร้องคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด เนื่องจากศาลยังไม่ได้ส่งมา
ล่าสุดหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณากว่า 1 ชั่วโมงครุชึ่ง ได้ออกนั่งบังลักงก์ อ่านคำวินิจฉัยว่า ในคดีนี้เห็นว่าใช้เอกสารพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงเดียวกับคดี 29 ล้านบาท โดยเห็นว่ามีการข้ามขั้นตอนและไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ จึงมีมติ 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กล่าวว่า เป็นไปตามความคาดหมาย ตรงกับแนวทางต่อสู้คดี ถือว่าจบด้วยดี ทำให้ทุกฝ่ายโล่งใจ ส่วนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ เท่าที่ดูคำวินิจฉัยของคดี 29 ล้าน จะเห็นว่าศาลมีการวินิจฉัยในส่วนของข้อเท็จจริงด้วย
เปิดรายชื่อตุลาการโหวตมติ 4 ต่อ 3
ต่อมานายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรค ได้เดินทางเข้าพรรค ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใส ทั้งนี้นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน และหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ชุดที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้ตรงเข้าไปสักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้วยการนำพวงมาลัยมาถวาย ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความต่อสู้คดียุบพรรค กล่าวกับสื่อมวลชนที่ประจำพรรคว่า "บอกแล้ว ว่าต้องเป็นเช่นนี้"
นายชวน กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการที่จะยื่นเรื่องเพื่อยุบพรรคเพื่อไทย ว่า ขณะนี้หมดภาระกิจของตนไปอย่างหนึ่งแล้ว ต่อไปก็เป็นภาระกิจของพรรค เป็นเรื่องของทีมกฎหมายพรรค แต่ที่ผ่านทีมกฎหมายสู้คดียุบพรรคไม่เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนไม่ทราบว่าในพรรคได้มีการหารือเรื่องที่จะย่นยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แต่ในกลุ่มที่ทำงานอยู่ ไม่ได้คุยเรื่องดังกล่าว ส่วนใหญ่จดจ่อในเรื่องคดียุบพรรค
เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางพรรคจะปรับปรุงการทำงานโดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีพรรคและการใช้เงินสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างไร นายชวน กล่าวว่า ต้องไปถามกรรมการบริหารพรรค เพราะตนเป็นเพียงประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และพรรคก็ไม่ได้มาปรึกษา
ด้าน นายบัณฑิต กล่าวว่า ก็ไม่มีอะไร เพราะในคดีที่เราต่อสู้กรณี 29 ล้านบาท ที่เขาฟ้องว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินผิดประเภทนั้น เราก็ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ลงความเห็นชี้มูลก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจน ส่วนกรณี 258 ล้านบาท เช่นกัน ในเมื่อศาลพิจารณาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อโยงกัน ทั้งในส่วนพยานและหลักฐาน แต่ถ้าติดข้อกฎหมายที่สำคัญ คือ กรณีการพิสูจน์ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ชี้มูลหรือไม่อย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าจะไปสืบพยานเลอเลิศอย่างไร แต่ถ้าติดที่ข้อกฎหมายสำคัญเช่นนี้
"กรณีนี้เป็นที่ชัดเจนตามมาตรา 94-95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ระบุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองจำเป็นต้องทำความเห็น ก่อนที่จะเสนอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้อง ซึ่งถ้าไม่ทำความเห็นที่ตามกฎหมายระบุ มันก็ไปไม่ได้" นายบัณฑิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เสียง กรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.)ในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ถูกร้อง ในข้อกล่าวหาได้รับบริจาคเงินจำนวน 258 ล้านบาทจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านทางบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น
ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอกสารมาจากสื่อมวลชน ซึ่งในเอกสารได้ระบุว่า 4 เสียงข้างมาก ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ไข่มุกด์ ส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
"อสส." บ่นเสียดายพลาดโอกาส
นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องในคดีดังกล่าว เราก็น้อมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งในส่วนของ อสส.ถือว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้วและไม่รู้สึกติดใจในคำวินิจฉัยของศาล เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นศาลสุดท้ายของขบวนการนี้ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อกฎหมายก่อนนั้น ทางอสส.ไม่มีโอกาสที่จะคัดค้าน เพราะไม่สามารถยื่นคำร้องประกบได้ ประกอบกับเป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณาว่า จะดำเนินการในกรณีดังกล่าวอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนที่ อสส.จะยื่นคำร้องได้มีการตรวจสอบสำนวนของ กกต.ก่อนหรือไม่ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเสนอให้ยุบพรรคแล้วหรือยัง นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ตอนแรกที่นายทะเบียนฯเสนอเรื่องมาให้ อสส. ทาง อสส.ก็เห็นว่า ตรงนี้มีปัญหา เพราะไม่แน่ใจว่า การที่นายทะเบียนฯ มีความเห็นท้ายหนังสือของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายทะเบียนฯ ที่เสนอเข้าที่ประชุม กกต.ว่า
"อาจมีการกระทำความผิดตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 50 ถือเป็นเรื่องสำคัญให้ที่ประชุม กกต.พิจารณานั้น ถ้อยคำนี้ถือว่านายทะเบียนฯ มีความเห็นเสนอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วหรือยัง จึงทำให้ อสส.ในขณะนั้นมีความเห็นไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมานายอภิชาต สุขัคคานนท์ มีหนังสือในฐานะประธาน กกต.และนายทะเบียนฯ ถึง อสส.ในวันที่ 10 พ.ค.53 ระบุว่า ขอให้ อสส.ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง อสส. เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการวัตถุประสงค์ของนายทะเบียนฯ ที่เห็นแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำความผิด จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อสส.และนายทะเบียนฯ
"ในชั้นของคณะทำงานร่วมก็ได้มีการพูดคุยกับนายอภิชาต ในฐานะนายเทียนฯ อีกครั้งหนึ่งว่า ตกลงแล้วท่านมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดตามมาตรา 94 แล้วใช่หรือไม่ ปรากฏว่านายอภิชาต กลับไม่ได้ให้ความชัดเจนอะไร แต่ทาง อสส. ถือว่าการที่นายอภิชาต มีหนังสือฉบับลงวันที่ 10 พ.ค.53 นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนฯ มีการกระทำผิดจนเป็นเหตุให้เสนอยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้แล้ว ทาง อสส.จึงมีการยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ"โฆษก อสส.กล่าว
เมื่อถามว่า กกต.มีโอกาสที่จะนำคดีนี้มาทบทวนอีกครั้งหรือไม่ นายธนพิชญ์ กล่าวว่า คงต้องยุติ เพราะถือว่าขั้นตอนสิ้นสุดแล้ว ส่วน อสส.จะรู้สึกเสียดายโอกาสที่ยังไม่ได้ให้ศาลมีการไต่สวนในคดีดังกล่าวหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้เราคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากยอมรับคำวินิจฉัยของศาล.
ที่มา เดลินิวส์