วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไว้อาลัย ‘ปาร์ก แตจูน’ผู้สร้างอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเกาหลีใต้ (ตอนแรก)

ไว้อาลัย ‘ปาร์ก แตจูน’ผู้สร้างอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเกาหลีใต้ (ตอนแรก)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Man of steel, Park Tae-joon
By Yong Kwon
15/12/2011

ปาร์ก แตจูน (Park Tae-joon) ผู้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผู้ที่กล้าขัดขืนดื้อดึงโดยไม่พะวักพะวนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เย้ยเยาะ เขาลงมือดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของเกาหลีใต้จากหลักกิโลเมตรที่ 0 จนกระทั่งกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันเอาชนะทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี อีกทั้งมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศชาติของเขาสามารถทำการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นนักอุตสาหกรรมระดับตำนานคนหนึ่งของเอเชีย มรดกแห่งความสำเร็จของเขาซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวินัยแบบทหารและความมุ่งมั่นแน่วแน่แบบสัตว์ป่า จักยืนตระหง่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวเกาหลีใต้รุ่นต่อๆ ไป


*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา บุคคลผู้สร้างปาฏิหาริย์แห่งยุคสมัยใหม่ผู้หนึ่ง ได้อำลาจากไปอยู่กับประวัติศาสตร์ คุณูปการของเขาที่มีต่อความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจอย่างชนิดเป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่นั้น ส่วนมากทีเดียวมักถูกบดบังรัศมีจากมรดกที่เหลือทิ้งไว้ให้แก่แดนโสมขาวของประธานาธิบดีปาร์ก จุงฮี (Park Chung-hee)

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีสายตามองเห็นแต่ผลงานความสำเร็จของอดีตจอมเผด็จการผู้ล่วงลับผู้นั้น พวกเขาควรที่จะสังเกตเห็นด้วยว่า ถ้าหากปราศจากความบากบั่นพยายามของคนแซ่ปาร์กอีกผู้หนึ่งแล้ว พลังขับดันไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็อาจจะหมดแรงสูญสลายไปตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้นเดินหน้าไปไม่นานแล้ว นามของวีรชนผู้เพิ่งล่วงลับไปผู้นี้คือ ปาร์ก แตจูน (Park Tae-joon)

เขาเกิดเมื่อปี 1927 ใกล้ๆ กับเมืองปูซาน (Busan) เมืองท่าที่กำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ในปี 1933 เขาเดินทางข้ามช่องแคบเกาหลีเพื่อไปสมทบกับบิดาของเขา ผู้ซึ่งได้อพยพไปพำนักอาศัยในญี่ปุ่นด้วยเห็นว่าจะมีโอกาสดีกว่าในการทำงานประกอบอาชีพ ผลงานการเล่าเรียนของปาร์กขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น อยู่ในระดับดีเยี่ยม จนกระทั่งเขาได้เข้าศึกษาในด้านวิศวกรรมเครื่องกล ณ มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ในปี 1945 แต่แล้วก็ต้องเลิกเรียนกลางคันและถูกส่งตัวกลับมายังเกาหลีในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองภายหลังจากเกาหลีใต้ได้รับการปลดปล่อย [1] ปาร์กได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเกาหลี (Korea Military Academy) ที่นั่นเองเขาได้พบกับ ปาร์ก จุงฮี ผู้ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาจารย์สอนวิชาการเคลื่อนที่ของกระสุนปืนและจรวด (ballistics) ปาร์ก แตจูน เคยพรรณนาถึงบรรยากาศของการพบหน้ากันครั้งแรกระหว่างเขากับผู้ที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในอนาคตผู้นี้ว่า ตัวเขามีความรู้สึก “เหมือนกับความหนาวยะเยือกของอากาศในตอนเช้ากำลังพัดกระหน่ำผ่านเข้ามาทางประตูหน้า” มันเป็นการเริ่มต้นของการจับมือเป็นพันธมิตรกันที่เต็มไปด้วยพลังและความมีชีวิตชีวา

ภายหลังปฏิบัติภารกิจทางทหารด้วยความโดดเด่นในสงครามเกาหลีในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ปาร์ก แตจูน ก็ได้กลับมารวมตัวกับ ปาร์ก จุงฮี อีกคำรบหนึ่ง และได้ทำงานอยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ ปาร์ก จุงฮี ซึ่งเวลานั้นเป็นนายทหารยศพันเอก ได้ยกย่องระเบียบวินัยในการทำงาน ตลอดจนความมุ่งมั่นถึงขั้นหลงใหลที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบของปาร์ก แตจูน และพูดพรรณนาถึงเขาว่าเป็น “เหล็กกล้าอันแข็งแกร่งชิ้นหนึ่ง”

ความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งของชายแซ่ปาร์กทั้งสองคนนี้ ยิ่งปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจปี 1961 [2] ตามเกร็ดประวัติที่เล่าขานกัน ปาร์ก จุงฮี ได้ขอร้องอดีตนักเรียนนายร้อยที่เขาเคยสอนผู้นี้ว่า อย่าได้เข้าไปร่วมการก่อการลุกฮือของฝ่ายทหารในคราวนั้นเลย เพื่อที่เขาจะได้สามารถดูแลครอบครัวของปาร์ก จุงฮี ได้ถ้าหากการก่อการรัฐประหารประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ดี ในขณะที่กองกำลังของปาร์ก จุงฮี เดินทัพเข้าไปในกรุงโซลในช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 ปาร์ก แตจูน ก็ได้ไปปรากฏตัวอยู่ในกองบัญชาการของกองกำลังโค่นล้มรัฐบาล เป็นการประกาศทุ่มเทชนิดสุดตัวที่จะฝากชะตาชีวิตของเขาไว้กับผู้บังคับบัญชาผู้นี้

พฤติการณ์อย่างขัดขืนดื้อดึงคราวนั้น ทำให้ปาร์ก แตจูน ได้เข้าไปอยู่วงในของระบอบปกครองใหม่ของเกาหลีใต้อย่างมั่นคง และอีกไม่นานต่อมาเขาก็ได้รับการเลื่อนระดับให้ไปอยู่ในตำแหน่งอันสำคัญตำแหน่งหนึ่งในสภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติ (Supreme Council for National Reconstruction) องค์กรปกครองของคณะทหารผู้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ ซึ่งได้แผ้วถางทางให้แก่สาธารณรัฐที่สาม (Third Republic) ของปาร์ก จุงฮี [3]

ภายหลังที่ได้ช่วยเหลือจัดทำแผนการระยะห้าปี (Five Year Plan) ฉบับแรก (ปี1962 – 1966) ของประธานาธิบดีปาร์ก จุงฮี แล้ว ปาร์ก แตจูน ก็เปลี่ยนภารกิจจากการบังคับบัญชาทหาร มาสู่การฟูมฟํกบ่มเพาะอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในขั้นเดินเตาะแตะของเกาหลี ในปี 1964 เขากลายเป็นนายใหญ่ของบริษัท โคเรีย ทังสเตน (Korea Tungsten Company) บรรพบุรุษของบริษัท แตกูเทค (TaeguTec) ในทุกวันนี้ และเข้าบริหารจัดการหนึ่งในบริษัทขี้โรคอ่อนแอจำนวนไม่กี่แห่งของโสมขาว ซึ่งมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนายทหารและนักวางแผนเศรษฐกิจที่มีพรสวรรค์ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในโลกแห่งบริษัทธุรกิจต่างหาก ที่ทำให้ทักษะอันเลอเลิศของปาร์ก แตจูน ได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่จนเป็นที่ประจักษ์กันอย่างแท้จริง พวกนักวางแผนเศรษฐกิจของประธานาธิบดีปาร์กในตอนนั้นตัดสินใจว่า เกาหลีใต้จำเป็นที่จะต้องพึ่งตนเองในเรื่องเหล็กกล้าให้สำเร็จ เพื่อให้เป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ต้นทุนอันสูงลิ่วทะลุฟ้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนขนาดและความยากลำบากอันมหึมาของโครงการนี้ ได้ทำให้พวกนักอุตสาหกรรมภายในประเทศจำนวนมากเกิดความระย่อครั่นคร้าม ประเทศที่ยังมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนเพียงแค่เท่ากับปีละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมแน่ๆ แล้วหรือที่จะกระโจนเข้าไปเล่นเกมเสี่ยงซึ่งมีมูลค่าเดิมพันมหาศาลลิบลิ่วขนาดนั้น?

ดังนั้น ประธานาธิบดีปาร์ก จึงหันมาหา ปาร์ก แตจูน

*หมายเหตุผู้แปล*
[1] เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคมอยู่นาน 35 ปี ในระหว่างปี 1910 ถึง 1945 จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของจักรวรรดิญี่ปุ่น กองทัพสหภาพโซเวียตได้เข้าปลดปล่อยและยึดครองเกาหลีภาคเหนือชั่วคราว ขณะที่กองทัพอเมริกันก็กระทำอย่างเดียวกันกับเกาหลีภาคใต้ ทว่าในที่สุดแล้วไม่ได้มีการปฏิบัติตามแผนการที่จะให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวของเกาหลี ตลอดจนการจัดการเลือกตั้งในเกาหลีทั้งสองส่วน และเกาหลีก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ นั่นคือ เกาหลีเหนือ หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และ เกาหลีใต้ หรือ สาธารณรัฐเกาหลี จวบจนกระทั่งทุกวันนี้
[2] การรัฐประหารของฝ่ายทหารโดยที่มี ปาร์ก จุงฮี ซึ่งเวลานั้นมียศพลตรี เป็นผู้นำ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1961
[3] องค์กรปกครองของคณะทหาร ซึ่งใช้ชื่อว่า สภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติ และมีปาร์ก จุงฮี เป็นประธาน ได้เข้าปกครองเกาหลีใต้เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่สามของเกาหลีใต้ ในตอนแรก ปาร์ก จุงฮี บอกว่าหลังจากจัดการเลือกตั้งและจัดตั้งคณะรัฐบาลพลเรือนตามรัฐธรรมนูญแล้ว เขาก็จะกลับเข้ากรมกอง แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจ ประกาศปลดตนเองออกจากการเป็นนายทหารประจำการ แล้วลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเขาได้รับชัยชนะ แต่เขาไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็นประธานาธิบดีครบสองสมัยตามที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สาม และตามมาด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้เผด็จการเต็มตัว ระบอบปกครองของปาร์ก จุงฮี สิ้นสุดลงด้วยการที่เขาถูกผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลีใต้ยิงเสียชีวิตในวันที่ 26 ตุลาคม 1979 ปาร์ก จุงฮี เป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในดินแดนโสมขาวแม้กระทั่งจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีทั้งฝ่ายที่ชื่นชมซึ่งยกย่องสรรเสริญเขาที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนทำให้เกาหลีก้าวขึ้นสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรมใหม่ แต่ก็มีฝ่ายที่ชิงชังซึ่งประณามความเป็นเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของเขา

ยง ควอน เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งชำนาญเรื่องเกี่ยวกับกิจการของเกาหลี, รัสเซีย, และเอเชียกลาง(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
ที่ีมาผู้จัดการ Online