พบ“ปลาหลดงวงช้าง” ชนิดใหม่ของโลกในแม่น้ำโขง ห่วงปลา 10 ชนิดในป่าพรุถูกคุกคาม
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่โรงแรมมารวย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการประชุมวิชาการเนื่องในปีสากลแห่งป่าไม้และวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีภาพ
โดยนายชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของของสายพันธุ์ปลาที่พบในประเทศไทยมีมากถึง 500 ชนิด เป็นจากปลาที่อาศัยในแหล่งต้นน้ำมากถึง 300 สายพันธุ์ ทางสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) สำรวจพบว่า 80 ชนิดอยู่ในบัญชีเรดส์ลิส หรือสถานภาพน่าเป็นห่วง และในจำนวนนี้ 34 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ป่าเขาของไทย
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปลาที่อาศัยในป่าพรุของไทย ซึ่งมีราว 60 ชนิดนั้น พบว่าอย่างน้อย 10 ชนิดอยู่ในภาวะคุกคามอย่างมาก อาทิ ปลาก้างพระร่วง ปลากัดช้าง ปลากริมแรด ปลากะแม๊ะ ปลาปักเป้าท้องตาข่าย เป็นต้น เนื่องจากป่าพรุเปลี่ยนแปลงสภาพและระบบนิเวศน์ และยังพบว่ามีการจับปลาจากป่าพรุออกไปขายปีละหลายแสนตัว อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีว่า จากการสำรวจปลาในแม่น้ำโขงพบปลาหลดชนิดใหม่ของโลกในสกุล Macrognathus ซึ่งตั้งชื่อว่า “ปลาหลดงวงช้าง” เพราะมีลักษณะของจมูก และจงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง มีดวงเป็นลายจุดตามลำตัว 4 จุด และมีความยาวลำตัว 20 ซม.หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งพบ “ปลาอีด” ซึ่งเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกในเขตท้องนา และเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของบึงโขงหลง หนองกุดทิง จ.หนองคาย มาแล้ว
ที่มา เดลินิวส์