เมื่อวันที่ 14 พ.ค.นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ( ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2554 ที่มีสาระสำคัญให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปี และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว ซึ่งกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคล ทำให้มีการบันทึก และการสวมตัวบุคคลโดยคนต่างด้าวทำได้ยากขึ้น
เพราะการพิสูจน์ตัวทำได้ง่าย เป็นการรักษาสิทธิคนไทย โดยเจตนาของกฎหมายไม่ต้องการสร้างภาระให้ประชาชน และในประเทศที่ก้าวหน้าจะเริ่มทำบัตรประชาชนตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ถ้าน้อยมากเกินไป ก็จะเป็นภาระของประชาชน และรัฐ เพราะรัฐต้องซื้อเครื่องมือเครื่องใช้มากขึ้น จึงกำหนดว่าถ้าทำตอนอายุ 7 ขวบ ก็เป็นช่วงอายุที่เหมาะสม การรักษาสิทธิพลเมืองเป็นสิ่งที่เราต้องลงทุน
ด้านนายจักรี ชื่นอุระ รักษาการผู้อำนวยการสำนักทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า ผลจากกฎหมายจะทำให้มีกลุ่มบุคคลช่วงอายุ 7-14 ปี ต้องทำบัตรประชาชน เบื้องต้นคนกลุ่มนี้มีประมาณ 8 ล้านคน อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายเพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลอีก 60 วันนับจากวันประกาศ ในช่วง 60 วันนี้จึงต้องออกระเบียบ ออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะกฎกระทรวงเดิมไม่รองรับถึงเด็กกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นต้องออกแบบว่าการให้บริการเด็กต้องทำอย่างไร เพราะกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนวิธีการทำบัตรเด็กอายุ 7 ขวบไว้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บังคับให้เด็กกลุ่มนี้ต้องทำบัตรพร้อมกัน เพราะระบุไว้ว่า ให้เด็กมาทำได้ในช่วง 1 ปี และสามารถขยายเวลาได้ถึง 2 ปี ทั้งนี้ การทำบัตรประชาชนเพิ่มให้เด็กอายุ 7-15 ปี ไม่ได้กระทบถึงการเพิ่มเนื้อที่ในฐานข้อมูลประชากร เพราะเด็กเหล่านี้มีข้อมูลในทะเบียนราษฎร์อยู่แล้ว
นายจักรี กล่าวต่อว่า ที่กำหนดเป็นอายุ 7 ขวบเหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในรัฐสภาแล้ว ซึ่งมีบางคนเสนอให้มีบัตรตั้งแต่ 1 ขวบ แต่ก็สรุปที่ 7 ขวบ คือเป็นช่วงอายุที่เริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่มีการกำหนดเช่นนี้ เพื่อให้เด็กสามารถใช้บัตรประชาชนในสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลได้ และสามารถให้เด็กใช้แสดงตัวได้ง่ายขึ้น
ที่มา เดลินิวส์