วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

รัฐประกาศพรก.ฉุกเฉินร้ายแรงคุมกทม.-ปริมณฑล

รัฐประกาศพรก.ฉุกเฉินร้ายแรงคุมกทม.-ปริมณฑล
รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกทม.-ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง อภิสิทธิ์ย้ำต้องคืนภาวะปกติสู่บ้านเมือง หลังม็อบแดงขัดขืนการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อเวลา 18.15 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ว่า ครม.ได้มีมติให้ออกแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงประกาศอีก 6 ฉบับดังนี้ คำสั่งที่ 2 คำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่งที่ 3 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 2/2553 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง , ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจที่ของนายกรัฐมนตรี , ข้อกำหนด ออกตามในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตามที่ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และ ทางรัฐบาลพยายามบริหาร และ ระงับยับยั้ง ผลกระทบมาตลอด แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่สามารถระงับยับยั้งเหตุที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างได้

แม้ว่ารัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายและมีพัฒนาการความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ผิดกฎหมายมากขึ้น และ ยังได้มีการบุกรุกรัฐสภา ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงได้เชิญคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาร่วมหารือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ กทม. และ พื้นที่ใกล้เคียง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าทางรัฐบาลจะใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ 4 ประการ คือ

1. คืนความเป็นปกติสุขในพื้นที่ต่างๆในกทม.

2. ระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน

3. เพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุม

4. จะใช้มาตรการระงับเหตุวินาศกรรมให้มีผลมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ใช้ปราบปรามประชาชนหรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่เป้าหมาย คือ คืนภาวะปกติ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามหลักสากล เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข เนื่องจากประเทศชาติได้รับผลกระทบอย่างรุ่นแรง และ ต้องการแก้ไขการกระทำใดๆที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอให้ประชาชนได้เข้าใจ ไม่เข้ามาร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และ รัฐบาลขอความร่วมมือในการเดินหน้าประกาศ โดยยืนยันว่าทางรัฐบาลถือว่าประชาชนทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ และ ทางรัฐบาลต้องการรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำความสงบสุขคืนแก่ประชาชนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยมี รมว.กลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการฯ มีปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ รวมทั้งให้ข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ
หน้าที่ของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)

1.ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง

2.จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการได้ตามที่เห็นสมควร

3.ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง

5.จัดกำลังตำรวจ ทหาร และพลเรือนดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่นั้นๆ ป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก

6.จัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

7.มอบหมายให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

8.เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสารหรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร

9.แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็น

10.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งได้มีการบังคับใช้ตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. และปริมณฑล เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยุติโดยเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น

1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

2.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ที่มา www.posttoday.com/