เอเอฟพี - ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นวันที่กษัตริย์หนุ่มแห่งภูฏาน ผู้ทรงเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และได้รับสมญานามว่า “เจ้าชายผู้ทรงเสน่ห์จากแดนหิมาลัย”
จะทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับหญิงสาวสามัญชนคู่พระทัย อันเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่พสกนิกรชาวภูฏานกว่า 700,000 คนกำลังรอคอยด้วยความปลื้มปีติ
พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งประวัติศาสตร์จะถูกจัดขึ้น ณ ป้อมปราการเมืองพูนาคา (Punakha Dzong) อาคารเก่าแก่อายุร่วม 400 ปี ซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย
ข่าวการหมั้นหมายระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและ เจ็ตซัน เปมา เมื่อเดือนพฤษภาคม อาจทำให้สาวๆชาวไทยที่ชื่นชมในพระจริยวัตรอันงดงามต้องอกหักไปตามๆกัน ทว่าสำหรับชาวภูฏานซึ่งรักและเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งใด ประกาศดังกล่าวถือเป็นข่าวมหามงคลที่นำความปลาบปลื้มยินดีมาสู่พวกเขา
บรรยากาศแห่งความรื่นเริงอบอวลไปทั่วดินแดนซึ่งเลือกใช้ “ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นเครื่องวัดความกินดีอยู่ดีของพลเมือง แทนที่จะวัดด้วยมูลค่าของวัตถุที่ครอบครอง
“ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน แต่รู้สึกดีมากๆ” เช็นโช ดอร์จี นักศึกษาวัย 21 ปีในกรุงทิมพู ให้สัมภาษณ์
“ทรงเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุด” เขากล่าว
เหตุระเบิด 2 ครั้งซึ่งเกิดขึ้นบริเวณชายแดนภูฏานฝั่งที่ติดกับอินเดีย เมื่อค่ำวานนี้(10) เป็นการโจมตีครั้งล่าสุดหลังจากที่เคยเกิดมาแล้วก่อนการเลือกตั้งในปี 2008 และทำให้บรรยากาศแห่งความสุขของชาวภูฏานพร่องไปเล็กน้อย โดยโฆษกรัฐบาลระบุว่า ตำรวจยังไม่สามารถชี้ตัวมือระเบิดได้
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ซึ่งปกครองภูฏานมานานกว่า 100 ปี และสถาบันกษัตริย์นี้เองที่เป็นพลังสำคัญในการนำความมั่นคงมาสู่ดินแดนซึ่งเคยกรุ่นไฟสงคราม และทำให้ภูฏานคงความเป็นเอกราชอยู่ได้ท่ามกลางวงล้อมของชาติมหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
เท็มปา เกลท์เช็น ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมคนงาน 40 คนในการตระเตรียมสนามกีฬาเพื่องานรื่นเริงในวันเสาร์นี้(15) บอกว่า พระราชพิธีอภิเษกสมรสจะเป็นสิ่งที่รับประกันว่า ชาวภูฏานจะยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป
“ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับสมเด็จพระราชาธิบดีของเรา แล้วใครจะครองราชย์ต่อเล่า?” เขาตั้งคำถาม ในขณะที่คนงานอื่นๆกำลังตั้งเต็นท์สำหรับแขกวีไอพี และตบแต่งอาคารไม้สลักซึ่งจะเป็นที่ประทับสำหรับกษัตริย์และว่าที่พระชายาอย่างขะมักเขม้น
“สิ่งที่เราทุกคนคาดหวัง ก็คือ พระราชโอรส-ธิดาของทั้งสองพระองค์” เขากล่าว
ทีมผู้จัดงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสรับรองว่า รูปแบบพิธีจะต้องออกมา “เรียบง่าย และถูกต้องตามธรรมเนียมของภูฏาน”
ทั้งนี้ จะไม่มีการเชิญประมุขรัฐหรือพระราชวงศ์ต่างแดน แม้แต่รัฐมนตรีของภูฏานก็ยังถูกขอร้องมิให้พาภริยามาร่วมพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ในวันพฤหัสบดี(13) เนื่องจากที่นั่งไม่เพียงพอ
ความสมถะและการเข้าถึงพสกนิกรทุกชนชั้นเป็นคุณสมบัติอันน่าดึงดูดใจของพระราชวงศ์ภูฏาน โดยเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งทรงเลือกที่จะประทับในตำหนักเล็กๆกลางกรุงทิมพู แทนที่จะเป็นพระราชวังหลวง
ภูฏานเพิ่งมีการตัดถนนและใช้ระบบเงินตราในช่วงทศวรรษที่ 1960 ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่อย่างโทรทัศน์เพิ่งจะเข้าถึงดินแดนอันเงียบสงบแห่งนี้ เมื่อปี 1999
ป้อมปราการแห่งพูนาคา หรือ พูนาคาซอง ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส
ภาพของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี และพระคู่หมั้นถูกนำไปประดับตามวงเวียนบนถนนในกรุงทิมพู
เด็กชาวภูฏานฝึกซ้อมการแสดง ซึ่งจะใช้ในงานเฉลิมฉลองวันที่ 15 ตุลาคม
ผู้โดยสารสายการบิน ดรุก แอร์ จากกรุงนิวเดลี แสดงใบขาเข้าของภูฏาน ซึ่งมีภาพสมเด็จพระราชาธิบดีและพระคู่หมั้น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์