ไฟไหม้อาคารบ้านเรือนในเมืองมิยางิ หลังแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่น (เอเอฟพี)
19 มี.ค. ที่จะถึงนี้เป็นวัน “จันทร์เต็มดวง” และมากกว่านั้น ยังเป็นวันที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 18 ปี ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้เรา ได้ชื่นชมความงามจากบริวารของโลกได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่นักโหราศาสตร์ฝรั่งกลับเชื่อว่า โลกจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงจากปรากฏการณ์ดังกล่าว
ริชาร์ด นอลล์ (Richard Nolle) โหราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากเว็บไซต์ astropro.com เรียกปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบ 18 ปี ซึ่งมีระยะห่างจากโลกเพียง 356,577 กิโลเมตร ในวันที่ 19 มี.ค.2011 ว่า “เอกซ์ตรีม ซูเปอร์มูน” (extreme supermoon)
นักโหราศาสตร์จากโลกตะวันตกกล่าวว่า เมื่อดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ตามวันและระยะดังกล่าว จะเกิดความโกลาหลตามมา ทั้งพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะเกิดหายนะขึ้นแก่โลก
อย่างไรก็ดี สเปซด็อทคอม ซึ่งนำเรื่องนี้มารายงาน ย้ำว่าโหราศาสตร์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่จริงแท้ แต่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์และปรากฏการณ์อันลึกลับเข้าไว้ด้วยกัน
อีกทั้ง เกิดคำถามว่า... จำเป็นหรือไม่ ที่เราจะต้องเตรียมตัวหาที่หลบภัยเพื่อรับมือที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ “ซูเปอร์มูน” ดังกล่าว
ตามปกติดวงจันทร์ก็มีผลต่อน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทรอยู่แล้ว และแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์ ยังเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงบนแผ่นดินใหญ่ได้ ปรากฏการณ์นี้จะเห็นชัดขึ้น เมื่อจันทร์เต็มดวง ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกัน และคืนเดือนมืด (new moon) ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ด้านเดียวกัน
ตามข้อมูลของ จอห์น วิเดล (John Vidale) นักวิทยาศาสตร์ด้านแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิล สหรัฐฯ (University of Washington in Seattle) ระบุว่า ทั้งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ สร้างความเครียด มีแรงกระทำต่อโลกเล็กน้อย หากเราพิจารณาให้ละเอียด ก็จะเห็นว่า มีความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกเล็กน้อย เมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งเรียงกัน
“เมื่อจันทร์เต็มดวง และในคืนเดือนมืด คุณจะพบว่ามีแผ่นดินสั่นไหวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% และมีการตอบสนองของภูเขาไฟเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” วิเดลกล่าว
ข้อมูลจากสเปซด็อทคอมยังบอกอีกว่า ผลของแรงดึงดูดจากดวงจันทร์นี้ จะรุนแรงที่สุดในเขตมุดแผ่นเปลือกโลก (subduction zone) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิก ซึ่งแผ่นเปลือกโลกหนึ่งมุดลงไปใต้อีกแผ่นเปลือกโลกหนึ่ง
วิลเลียม วิลคอค (William Wilcock) นักวิทยาศาสตร์ด้านแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันอีกคน อธิบายว่า ในช่วงน้ำลงจะมีน้ำน้อย ดังนั้น แรงกดดันที่ก้นทะเลก็จะน้อยด้วย ซึ่งแรงกดนี้ จะหนีบรอยเลื่อนเข้าด้วยกัน เมื่อไม่มีแรงดังกล่าว จึงง่ายที่จะทำให้ลอยเลื่อนไถลไป
จากข้อมูลของวิลคอคนั้น การเคลื่อนของแผ่นดินไหวที่เขตมุดแผ่นเปลือกโลกในช่วงน้ำลง เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเวลาอื่นของวันนั้น 10% แต่เขายังไม่ได้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวกับช่วงน้ำลงในจันทร์เต็มดวงและคืนเดือนมืด โดยเขาเพียงสังเกตความสัมพันธ์ดังกล่าวในวงแคบๆ
แล้วในช่วงจันทร์เต็มดวงที่จะถึงนี้ และยังเป็นวันที่จันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบสิบกว่าปีนี้ จะเกิดแผ่นไหวและภูเขาไฟปะทุมากขึ้นหรือไม่?
เรื่องนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แรงดึงดูดในช่วงจันทร์เต็มดวงไม่ได้ต่างไปจากแรงดึงดูดในช่วงระยะอื่นของดวงจันทร์ และไม่มากพอที่จะเกิดระดับน้ำขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างที่กล่าวมาด้วย
“มีการศึกษาเรื่องทำนองนี้จำนวนมาก โดยนักวิทยาศาสตร์ของยูเอสจีเอสเองและนักวิทยาศาสตร์ที่อื่น แต่พวกเขาก็ไม่พบนัยสำคัญอะไรเลย” จอห์น เบลลินี (John Bellini) นักธรณีวิทยาของ สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) ให้ความเห็น
วิเดลก็ให้ความเห็นอีกด้วยว่า ในช่วงจันทร์เต็มดวง เราจะไม่เห็นผลกระทบอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นอยู่ก่ำกึ่งระหว่าง “ไม่มีผลกระทบเลย” กับ “ผลกระทบน้อยมากจนเรามองไม่เห็น” พร้อมทั้งย้ำอีกว่า “ซูเปอร์มูน” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีอิทธิพลต่อแผ่นดินไหวเลย แม้ความคิดดังกล่าว ใช่ว่าจะไม่เข้าท่าก็ตาม
เช่นเดียวกับความเห็นของ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แรงดึงดูดจากดวงจันทร์ มีผลต่อปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะดึงดูดให้เปลือกโลกขยับ การที่เปลือกโลกขยับ เกิดจากแรงเค้นของแผ่นเปลือกโลกที่เกยกันอยู่
“ถึงวงโคจรดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ก็มีผลแค่ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีผลให้เปลือกโลกที่แข็งมาก กระทบกระเทือนได้ เรายังไม่มีหลักฐานแบบนั้น”
“การขยับของเปลือกโลก เกิดจากแรงเค้นตรงรอยต่อระหว่างเปลือกโลก และเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ เมื่อมีการขยับตัวที่หนึ่ง ก็จะมีการขยับไปเรื่อยๆ เพื่อปรับให้ได้สมดุล และแผ่นเปลือกโลกบริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ก็อยู่ติดกับเปลือกโลกอีกหลายแผ่น เมื่อขยับตัวจึงมีโอกาสที่แผ่นอื่นๆ จะขยับอีก” รศ.บุญรักษากล่าว
ไม่ต่างไปจากความเห็นของ นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ที่ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมีน้อย อาจมีระดับน้ำสูงขึ้นหน่อย แต่ไม่ถึงขั้นเกิดสึนามิ
ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกราว 380,000 กิโลเมตร หากเทียบกับระยะที่เข้าใกล้โลกที่สุด ก็คิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อีกทั้ง ปัจจัยการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจากมาภายในโลกเอง
นอ.ฐากูรกล่าวว่า สิ่งที่เราควรปฏิบัติเมื่อมีข่าวสารเช่นนี้ออกมาคือ “ตั้งสติ ไม่เพ้อเจ้อ” และบอกด้วยว่า การที่เราเข้าใจธรรมชาติน้อย ทำให้เราแตกตื่นและผูกโยงเรื่องไปเอง
“อย่างการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ก็ไปผูกโยงกับภาพยนตร์เรื่อง 2012” นอ.ฐากูรกล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่า หากเป็นพายุ เรายังพอพยากรณ์ได้ แต่การเกิดแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิดนั้น เป็นสิ่งที่พยากรณ์ไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำ คือศึกษาธรรมชาติ
ส่วน รศ.บุญรักษาให้ความเห็นต่อการรับข่าวสารประเภทนี้ว่า ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณ พิจารณาถึงความเป็นไปได้ อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงที่เปลือกโลกกำลังปรับตัว เราจึงได้เห็นแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น
อย่างไรก็ดี สเปซด็อทคอมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภัยธรรมชาติบนโลกทั้งหมดไม่เกี่ยวกับดวงจันทร์เลย และโลกเราก็มีพลังงานมากมายที่กักเก็บไว้ และจะปลดปล่อยเมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อม
ส่วน “ซูเปอร์มูน” ก็อาจไม่มีผลอะไรเลย ซึ่งเราจะได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่เกิน 20 มี.ค.นี้แน่นอน
นักดับเพลิงนั่งพักท่ามกลางเศษซากเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก มิใช่อิทธิพลจากดวงจันทร์ (AFP)
เพลิงในท่าเรือที่เมืองมิยางิ หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิในญี่ปุ่น (AFP)
รถยนต์ถูกคลื่นสึนามิกวาดมากองในลำคลอง หลังเกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ในญี่ปุ่น (AFP)
หญิงสาวและลูกๆ ในสถานที่หลบภัยหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิในญี่ปุ่น (AFP)
ทหารลากเรือยางขนย้ายผู้ประสบภัยในเมืองมิยางิจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อ 11 มี.ค.ท54 (AFP)
ภาพจากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคเผยแพร่เหตุการณ์สึนามิถล่มเมืองหลังจากเกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ในญี่ปุ่น (เอเอฟพี)
น้องหมาก็เดือดร้อนจากแผ่นดินไหว (เอเอฟพี)
ภาพคลื่นสึนามิ (ซ้าย) เคลื่อนสู่แม่น้ำนากะในเมืองฮิตาชินากะ (เอเอฟพี)
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์